เว็บไซต์ ประชาสัมพันธ์กรมสุขภาพจิต http://www.prdmh.com/ เสนอข่าว เปิดหลักสูตรออนไลน์ดูแลจิตใจตัวเองคลายเครียดพิษโควิด โดยมีรายละเอียดดังนี้ กรมสุขภาพจิต เปิดตัวโปรแกรมหลักสูตรเรียนรู้ด้วยตัวเองระยะสั้น 8 วัน มุ่งเน้นความรู้ความเข้าใจและฝึกทักษะที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจในการดูแลตนเอง โดยมีการพัฒนาให้เหมาะสมกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านสื่อ Online Learning ทั้งในระบบ Audio และระบบ Motiongraphics นายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตพัฒนาโปรแกรมดังกล่าวโดยมุ่งเน้น การให้ความรู้การสร้างความเข้าใจและฝึกทักษะที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจในการดูแลตนเอง ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการใช้หลักฝึกสมาธิและสติในแนวสุขภาพจิต โดยแนวทางในโปรแกรมนี้ไม่เกี่ยวกับศาสนา แต่อธิบายด้วยจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์ ซึ่งรูปแบบกิจกรรม เป็นการอธิบายและแนะนำวิธีการฝึกปฏิบัติ สามารถฝึกตามได้ มีทั้งหมด 8 ครั้ง (8 วัน) วันละ 20-30 นาที หลังจากนั้นควรฝึกทุกวันเพื่อให้เป็นวิถีชีวิต ทั้งการฝึกสมาธิ ฝึกสติในการทำกิจต่างๆ ฝึกสติในจิตให้ปล่อยวางความคิด และความรู้สึกลบ สติสื่อสาร สติเมตตาและให้อภัย เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์จึงทำเป็นสื่อ Online Learning ทั้งในระบบ Audio และระบบ Motion graphics ร่วมไปกับการดำเนินชีวิตอย่างมีสติทั้งในการดูแลสุขภาพอนามัยส่วนบุคคลและการใช้ชีวิตให้มีระยะห่าง โดยเหมาะสมสำหรับกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้ 1.กลุ่มคนที่สงสัยว่าติดเชื้อ ต้องกักกันตัวอยู่ในบ้าน 14 วัน 2. กลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาการไม่รุนแรง ที่กักตัวเอง 14 วัน 3. กลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาการรุนแรง เช่น หายใจลำบาก ต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ยังทำกิจกรรมต่างๆได้ 4. กลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาการรุนแรงมาก ที่รักษาตัวในห้อง ไอซียู เมื่อพ้นจากอาการรุนแรงยังต้องฟื้นฟูอยู่ในโรงพยาบาล 5. เจ้าหน้าที่ที่มีความเครียดจากภาระงานและความเสี่ยงที่เพิ่มอย่างมาก 6. ประชาชนทั่วไปที่สนใจ นายแพทย์จุมภฏ กล่าวต่ออีกว่า ลักษณะเนื้อหาโดยสังเขปของโปรแกรมการดูแลจิตใจในวิกฤตโควิด-19 นี้ ประกอบด้วย วันที่ 1 (ฝึกสมาธิใช้การรับรู้ลมหายใจ) เพื่อหยุดความคิด ช่วยลดความว้าวุ่นใจ วันที่ 2 (ฝึกสติพื้นฐาน) ใช้การรับรู้ลมหายใจไว้เล็กน้อยและรับรู้สิ่งที่กำลังทำ เพื่อช่วยให้ทำกิจต่างๆโดยไม่รับและแพร่เชื้อโควิด-19 วันที่ 3 (สติในการกิน) มีสติในการกินช่วยให้เราดูแลสุขภาพได้ดีและปลอดภัยจากโรค วันที่ 4 (สติควบคุมอารมณ์) มีสติรับรู้อารมณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอารมณ์ลบและช่วยจัดการกับอารมณ์ลบที่เกิดขึ้น วันที่ 5 (สติใคร่ครวญ) สติในการรู้เท่าทันความคิดและใคร่ครวญ เราได้อะไรจากวิกฤตเปลี่ยนความคิดลบเป็นความคิดบวก วันที่ 6 (สติสื่อสาร) มีสติในการฟัง และ พูด ช่วยให้สื่อใจถึงใจกับคนใกล้ชิด วันที่ 7 (สติเมตตาให้อภัย) ใช้ใจที่สงบเผื่อแผ่ความรักความปรารถนาดีให้กับตนเองและผู้อื่น ช่วยให้ใจเปิดกว้าง แม้ในยามวิกฤติ และในวันที่ 8 (สติเป็นวิถี) แนะนำการฝึกอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเข้มแข็งในจิตใจเรา และเป็นพลังใจให้ผู้อื่น ประโยชน์ที่จะได้รับ คือผู้เรียนรู้จะสามารถปรับตัวและจิตใจในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้อยู่ในระดับสมดุล ลดความเครียดความวิตกกังวล สามารถทำกิจกรรมในแต่ละวันได้อย่างปกติด้วยสติซึ่งช่วยป้องกันการรับเชื้อโรคและการแพร่ระบาดของเชื้อโรคสู่ผู้อื่นในวงกว้างต่อไป โดยช่องทางการเข้าใช้งานโปรแกรม ได้แก่ Website กรมสุขภาพจิต https://www.dmh.go.th/covid19/ และ Website ห้องสมุดกรมสุขภาพจิต https://www.thaidmh-elibrary.org/videocovid19 รวมไปถึงช่องทาง YouTube และ Facebook ของกรมสุขภาพจิต ได้อีกด้วย ทั้งนี้กรมสุขภาพจิต ขอส่งกำลังใจให้แก่ประชาชนชาวไทย พร้อมพัฒนากลไกเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้คลายความวิตกกังวล เครียด กลัว เศร้า และจะต้องเข้าถึงและได้รับความช่วยเหลือทางด้านจิตใจอย่างใกล้ชิดจะช่วยให้สามารถฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจได้ดี และลดผลกระทบด้านสุขภาพจิตในระยะยาว ขณะเดียวกันหากรู้สึกหมดพลัง เครียดไปต่อไม่ไหวอย่าเก็บไว้คนเดียว ขอให้หาคนปรึกษา หรือใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 Link ข่าว ต้นฉบับ