รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสต์ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thira Woratanarat ระบุว่า 5 พฤษภาคม 2563 โดย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวานนี้ ศบค.ประกาศด้วยความยินดีว่า ไม่มีเคสคนไทยติดเชื้อใหม่ มีแต่เพียงคนต่างด้าว ดีใจได้หนึ่งวัน วันนี้เรามีเคสใหม่เป็นคนไทย 1 คน ที่น่าสนใจคือ กลับมาจากต่างประเทศตอนต้นมีนาคม กลางเดือนมีนาคมตรวจไวรัสได้ผลลบ ใช้ชีวิตอยู่หนึ่งเดือน จากนั้นเริ่มป่วยตอนปลายเดือนเมษา ก่อนจะตรวจพบเชื้อต้นพฤษภา คำถามที่น่าคิดคือ ติดจากอะไร? ระหว่าง... 1. การติดเชื้อมาและแฝงอยู่โดยตรวจไม่พบในครั้งแรก แล้วค่อยมาป่วยตอนหลัง ซึ่งเป็นลักษณะ prolonged viral shedding ซึ่งมีงานวิจัยต่างประเทศเคยมีรายงานยาวนานถึง 47 วัน (และหากจำไม่ผิดมี letter to editor ในวารสารฉบับหนึ่งเร็วๆ นี้ กล่าวถึงเคสที่ยาวนานถึง 2 เดือน) กับ 2. การติดเชื้อจากผู้ที่มีเชื้อที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่อยู่อาศัยในระหว่างช่วงเวลาหนึ่งเดือนก่อนจะปรากฏอาการป่วยขึ้นมา ซึ่งแปลว่าอาจมีคนติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือเรียกว่า asymptomatic case ที่เราทราบกันดีว่า คนติดเชื้อโรค COVID-19 นั้นมีโอกาสจะไม่มีอาการได้ประมาณเกือบ 20% แปลว่าติดเชื้อ 100 คน จะไม่มีอาการใดๆ เลยถึง 20 คน ยังไม่นับคนที่อาจมีอาการน้อยคล้ายหวัด หรือหวัดใหญ่ อีกประมาณ 65% ถ้าเป็นแบบข้อสองที่กล่าวมานี้ก็คงจะยุ่ง เพราะอาจต้องทำ active case finding กันอย่างเข้มข้นในพื้นที่ และไม่ว่าจะเป็นข้อ 1 หรือข้อ 2 ก็ตาม ขออนุญาตส่งกำลังใจให้กับทีมด่านหน้าในพื้นที่นะครับ อีกทีมที่เราต้องพึ่งพา และเอาใจช่วยทุกวันคือ คนที่อยู่ตามด่านต่างๆ ที่ทำหน้าที่ตรวจคัดกรองคนไทยที่เดินทางจากต่างประเทศกลับเข้ามาในแผ่นดินแม่ ก่อนจะนำไปกักตัวสังเกตอาการ เท่าที่ทราบมา มีคนไทยที่ขึ้นทะเบียนขอเดินทางกลับเข้ามาจำนวนมากตลอดเดือนนี้ คนทำงานก็หนักมาก และคนที่เดินทางกลับมาก็ต้องอดทนเฝ้าสังเกตอาการในสถานที่ที่รัฐจัดเตรียมไว้ด้วยความอดทนและลุ้นว่าเสี่ยงจะติดเชื้อมาหรือไม่ ขอเอาใจช่วยทุกๆ คน 1 คนที่ติดเชื้อใหม่ในวันนี้ เป็นหลักฐานย้ำเตือนให้เราๆ ท่านๆ ต้องหมั่นเตือนสติตัวเองและคนในครอบครัวเสมอว่า ควรปฏิบัติดูแลตนเองให้ดี อย่าให้ติดเชื้อ หรืออย่าเผลอเอาเชื้อไปแพร่โดยไม่รู้ตัว การไปเบียดเสียดยัดเยียดในขบวนรถไฟ แม้จะด้วยเหตุผลว่ากลัวจะไปทำงานสาย หรือใดๆ ก็ตามแต่ อยากให้คำนึงเสมอว่าที่ตัดสินใจรับความเสี่ยงไปในขบวนรถไฟในวันนี้ อาจเป็นรถไฟขบวนสุดท้ายที่ท่านจะได้ขึ้นก็เป็นได้ เราไปทำงานสาย เพราะรอขบวนถัดไป หากนายจ้างตำหนิ...ในสถานการณ์แบบนี้ควรนำความร้องทุกข์ต่อรัฐและสื่อสังคม เพื่อไล่เบี้ยนายจ้างที่ขาดจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ถ้าเราไปทำงานทัน เพราะตัดสินใจไปแออัดเบียดเสียด...ถึงจะได้คำชมจากนายจ้าง แต่การกระทำของเรานั้นไม่ใช่เรื่องที่น่ายกย่องเอาเสียเลย เพราะเดิมพันกับดวงว่าจะแจ็คพอตอยู่ในขบวนสายมรณะหรือไม่ แถมไม่ได้มรณาเพียงคนเดียว แต่มรณาเป็นหมู่คณะ ยุคโรคระบาดเช่นนี้ ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง ประชาชน และรัฐ ควรช่วยกันปรับตัว ยืดหยุ่น มุ่งเน้นความปลอดภัยของทุกคนในสังคม นี่จึงจะเป็น New Normal = New "Me" ที่พึงปรารถนา อย่าให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ต่อไปอีกเลย โอกาสแก้ตัวไม่ใช่ว่าจะมีกันทุกคนทุกคราครับ #อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ #StayHome #WorkfromHome #ใส่หน้ากากเสมอล้างมือบ่อยๆอยู่ห่างคนอื่นๆ #NewNormal_NewMe ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน ฝ่าฝัน อดทน อดกลั้น และอดออม...เราจะรอดไปด้วยกันครับ ประเทศไทยต้องทำได้ครับ...