โควิด-19กดดันราคา LNG ถูกสุดในรอบ 10 ปี ราคา SPOT แตะ 2 เหรียญ/ล้านบีทียู เอกชนหวังจะนำเข้าผลิตไฟฟ้าเอง ขณะที่ ปตท.ชี้ระบบคุณภาพมีปัญหาหากใช้ TPA ทันที แนะประเทศไทยควรให้ ปตท.จัดการในรูปแบบ National Gas Pool ด้านไทยออยล์ประเมินราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้เบรนท์เคลื่อนไหว 23-28 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยว่า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)ติดตามสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG ) ช่วงวันที่ 20-24 เมษายน 2563 พบว่า ราคาปรับตัวลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จากความต้องการใช้ก๊าซฯ ในภูมิภาคเอเชียยังมีจำกัด ส่งผลราคาราคาตลาดจร(Spot LNG ) เฉลี่ยสัปดาห์นี้ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.297 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู มาอยู่ที่ระดับ 2.016 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี ทั้งนี้แม้ว่าประเทศจีนจะเริ่มเปิดประเทศและเริ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ความต้องการใช้ก๊าซฯในภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะเดียวกันประเทศญี่ปุ่นมีความต้องการใช้ก๊าซฯ จำกัด อีกทั้งผู้ซื้อพยายามรับเที่ยวเรือจากสัญญาระยะยาวตามเงื่อนไขสัญญา ส่งผลให้มีความต้องการซื้อ Spot น้อยลง สำหรับราคาคาดการณ์ก๊าซธรรมชาติ (NGV) ในประเทศไทยเดือนมีนาคม 2563 อยู่ที่ 237.7220 บาท/ล้านบีทียู ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.4496 บาท/ล้านบีทียู รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่าจากราคา LNG ในต่างประเทศมีราคาต่ำ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน จึงสนับสนุนให้ บมจ.ปตท.มีการนำเข้า LNG มาใช้ทดแทนก๊าซฯในประเทศที่มีราคาสูงกว่า เพื่อส่งผลทำให้ราคาค่าไฟฟ้าต่ำลงและส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันนำเข้าแบบบุคคลที่ 3 (Third Party Access ;TPA)ที่ใช้ท่อก๊าซฯ และท่าเรือ LNG ปตท. ซึ่งล่าสุดได้มีการทดสอบนำเข้า โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) 2 ลำเรือมาแล้ว ทั้งนี้เบื้องต้น ปตท.ได้แจ้งถึงปัญหาอุปสรรคคือ คุณภาพก๊าซฯที่แตกต่างกัน หากใช้ TPA เข้ามาจำนวนมากจะกระทบต่อคุณภาพก๊าซฯ และส่งผลกระทบต่อเครื่องจักร ของกลุ่มผู้ใช้ทั้งกลุ่มโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมและรถยนต์ ขณะที่สัญญาการซื้อขายไฟฟ้าของไทยเป็นระบบ PPA ที่ผูกพันสัญญาระยะยาว 20-25 ปีที่มีค่าไฟฟ้าผูกพันไว้แล้ว ดังนั้นการนำเข้า LNG แบบ TPA แม้ราคาก๊าซจะถูกลงก็ไม่ได้ส่งผลตรงต่อค่าไฟฟ้ามากนัก ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ แต่เป็นการลดต้นทุนแก่ผู้ประกอบการกิจการไฟฟ้าเป็นหลัก โดยในต่างประเทศ การใช้ TPA จะทำควบคู่ไปกับการแข่งขันตลาดไฟฟ้าเสรี (Power Pool ) ซึ่งค่าก๊าซฯ จะสะท้อนต่อค่าไฟฟ้า ทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ โดยตรง ดังนั้น ปตท.จึงพยายามเสนอแนวช่วงเปลี่ยนผ่านให้ระบบ ประเทศไทย จึงควรใช้ระบบ Aggregator model หรือ National Gas Pool โดย ปตท.ทำหน้าที่รวบรวมก๊าซฯจากแหล่งต่างๆให้ผู้ใช้ เพื่อจัดการคุณภาพระบบนี้คุณภาพจะเสถียร ส่วนกรณีที่มีการมองว่า ปตท.ได้กำไรจากการค้าก๊าซ ทาง ปตท.ได้แจ้งว่าเป็นรัฐวิสาหกิจที่ถือหุ้นโดยรัฐ แม้ว่าอาจจะมีรายได้จากส่วนนี้ แต่สุดท้ายกำไรก็นำเงินส่งแก่รัฐควบคู่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงาน ส่วนกรณีที่ บมจ.ราช กรุ๊ป หรือ RATCH เสนอเลื่อนการลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (Gas Sales Agreement : GSA)กับ ปตท.ในโครงการโรงไฟฟ้าหินกองที่ จ.ราชบุรี กำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ออกไปจนถึงสิ้นปี 2563 หลังจากเดิมครบกำหนดวันที่ 30 เมษายน 2563 นั้น ปตท.กำลังหารือเรื่องนี้ โดย RATCH มีแนวโน้มต้องการนำเข้า LNG ด้วยตัวเองเพื่อลดต้นทุน ขณะที่ บมจ.ไทยออยล์ ประเมินแนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ (4-8 พ.ค.) คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 16-21 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่วนเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 23-28 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันยังถูกกดดันจากการการแพร่ระบาดของโควิด–19 ประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับตัวสูงขึ้นคิดเป็นร้อยละ 86 ของถังเก็บสำรองทั้งหมด ทำให้ตลาดกังวลว่าปริมาณน้ำมันคงคลังของสหรัฐฯ จะเต็มความจุในเร็วๆนี้ นอกจากนี้ตลาดคาดการณ์ว่าข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันที่ระดับ 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือนพฤษภาคม 2563 ของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรจะยังไม่สามารถชดเชยผลกระทบของอุปสงค์น้ำมันที่ลดลงอย่างหนัก แม้รัฐบาลหลายประเทศเริ่มเตรียมการผ่อนปรนมาตรการปิดเมืองเช่น สหรัฐฯ และสเปน ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นบ้างก็ตาม