พณ.เผยเงินเฟ้อ เม.ย.ลดลงแรงร้อยละ 2.99 จากปัญหาโควิด-19 และกลุ่มพลังงานลงแรง แต่ไม่กังวล ชี้เป็นทั่วโลก น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรืออัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย.63 พบว่า อัตราเงินเฟ้อลดลงแรงถึงร้อยละ 2.99 ถือว่าหดตัวแรงในรอบ 10 ปี 9 เดือน สาเหตุหลักมาจากการระบาดของโควิด-19 และการลดลงของกลุ่มพลังงาน ทั้งนี้จากปัจจัยผลกระทบดังกล่าวส่งผลให้หมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ปรับตัวสูงขึ้นทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะอาหารสด อาหารสำเร็จรูปและเครื่องประกอบอาหาร เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้ง ขณะที่กลุ่มพลังงานมีการปรับตัวลดลงเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกและการลงทุนที่ชะลอตัวลง และมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน รายได้ของภาคธุรกิจ การท่องเที่ยว การขนส่ง ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก รวมถึงการผลิตปรับตัวลดลง โดย สนค.มองว่าจากปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น คาดว่าเงินเฟ้อปีนี้จะติดลบร้อยละ 0.2-1 และเท่าที่ประเมินภาพรวมเงินเฟ้อเดือนพ.ค.63 ยังมีโอกาสติดลบแต่ไม่มาก ส่งผลให้เงินเฟ้อติดลบติดต่อกัน 3 เดือน ซึ่งตามสูตรคำนวณเงินเฟ้อหากติดลบติดต่อเช่นนี้จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด แต่ข้อเท็จจริงเงินฝืดจะเกิดจากภาวะสินค้าโดยรวมต้องลดลงมาก แต่ขณะนี้สินค้าอุปโภคและบริโภครวมถึงสินค้าภาคการเกษตรไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด อยู่ในภาวะทรงตัว ทำให้มองว่าแม้เงินเฟ้อจะติดลบติดต่อกันก็เป็นเพียงจากปัจจัยผลกระทบจากโควิด-19 และราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลงไปมาก นอกจากนี้แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อไตรมาส 2 ยังมีโอกาสติดลบไปถึงร้อยละ 2.28 และน่าจะดีขึ้นในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 หลังจากแนวโน้นการดูแลควบคุมการระบาดโควิด-19 ที่สามารถจัดการดูแลได้เป็นอย่างดีน่าจะทำให้โอกาสการเปิดดำเนินธุรกิจต่างๆทำได้เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับแนวทางกระตุ้นภาคธุรกิจของรัฐบาลที่จะออกมาน่าจะส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศกลับมาดีขึ้น ส่งผลให้ประชาชนหันมาจับจ่ายใช้สอยในระบบเพิ่มมากขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 4 จะกลับมาดีขึ้นเช่นกัน โดยปีนี้จะคาดหวังจากการท่องเที่ยวคงลำบากและสิ่งที่จะช่วยเศรษฐกิจไทยได้คือ กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศด้วยการกินของไทยใช้ของไทยและใช้มาตรการผ่อนปรนให้กับภาคธุรกิจขนาดกลางและย่อมด้วยมาตรการด้านภาษีเป็นหลัก