รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า... ตรวจเจอเชื้อโรค COVID-19 ที่ใดบ้างในโรงพยาบาล? . โดย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย . Ye G และคณะได้รายงานผลการศึกษา โดยทำการตรวจหาไวรัสด้วยวิธี RT-PCR จากการเก็บตัวอย่างโดย swab พื้นผิวบริเวณต่างๆ ของโรงพยาบาล Zhongnan Medical Center ในเมือง Wuhan ตั้งแต่ 7-27 กุมภาพันธ์ 2563 รวมทั้งสิ้นกว่า 600 ตัวอย่าง . สิ่งที่น่าสนใจคือ นอกจากบริเวณหอผู้ป่วยหนัก แผนกฉุกเฉิน ห้องแยกกักตัวผู้ป่วย ที่ตรวจเจอเชื้อไวรัสแล้ว . สิ่งของสาธารณะต่างๆ ที่มีการใช้ร่วมกันก็ตรวจเจอเชื้อไวรัสในอัตราที่น่าตกใจด้วย . เช่น พริ้นเตอร์ (20.0%) คอมพิวเตอร์และคีย์บอร์ด (16.8%), ลูกบิดประตู (16.0%), ที่กดเจลล้างมือ (20.3%), ถุงมือ (15.4%), อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ เช่น เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หน้ากากออกซิเจน (12.5%), และโทรศัพท์ (12.5%) . ผลจากงานวิจัยชิ้นนี้มีประโยชน์สำหรับพวกเรา . ในโรงพยาบาล ผู้บริหารและบุคลากรทางการแพทย์อาจต้องระมัดระวังตัวตลอดช่วงเวลาที่ทำงาน และวางแผนทำความสะอาดที่ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ การล้างมือบ่อยๆ จึงจำเป็นมาก ในขณะเดียวกันอุปกรณ์ทำความสะอาดมือ เช่น ที่กดเจลล้างมือ ก็อาจต้องได้รับการทำความสะอาดเช่นกัน . ส่วนประชาชนทั่วไป อาจต้องพิจารณานำความรู้นี้ไปประยุกต์ใช้สำหรับสถานที่ทำงานของท่านว่าได้ทำความสะอาดสิ่งของอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้สาธารณะอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นลูกบิดประตู คอมพิวเตอร์ คีย์บอร์ด พริ้นเตอร์ โทรศัพท์ เป็นต้น . ป.ล.ดูผลการศึกษาแล้ว ยิ่งรู้สึกว่า เราน่าจะพกเจลล้างมือส่วนตัว น่าจะดีกว่าครับ