กรมชลประทาน เดินหน้าก่อสร้างคลองผันน้ำคลองบางสะพาน หวังลดปัญหาอุทกภัยในพื้นที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และลดปัญหาอุทกภัยในตัวเมืองบางสะพาน ได้กว่า 4,800 ไร่ เมื่อวันที่ 4 พ.ค. นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 14 กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน ได้ดำเนินการก่อสร้างคลองผันน้ำคลองบางสะพาน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอบางสะพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศอำเภอบางสะพานมีความลาดชันบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ และเป็นที่ราบสลับที่ดอนบริเวณพื้นที่ตอนล่าง เมื่อเกิดภาวะฝนตกหนักและต่อเนื่องหลายวันในช่วงฤดูฝน น้ำจะไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ตอนล่างก่อนไหลออกสู่ทะเล และตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา สภาวะน้ำท่วมเริ่มรุนแรงขึ้นด้วยสาเหตุปัจจัยหลายอย่าง อาทิ คลองธรรมชาติแคบ ตื้นเขิน มีการขยายของตัวเมือง เส้นทางคมนาคม การเปลี่ยนแปลง การใช้ประโยชน์ที่ดิน ตลอดจนสิ่งก่อสร้างรุกล้ำทางน้ำ ทำให้เป็นอุปสรรคและกีดขวางการไหลเวียนของน้ำ น้ำไหลระบายไม่ทัน เอ่อล้นตลิ่งไหลท่วมพื้นที่ราบลุ่ม โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนเมืองบางสะพาน สร้างความเดือดร้อนและก่อให้เกิดความเสียหายต่อชาวอำเภอบางสะพานทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นมูลค่ามหาศาล แม้ว่าก่อนหน้านี้กรมชลประทาน จะได้ทำการขุดลอกพร้อมก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในคลองบางสะพาน ห้วยเขาม้าร้อง และคลองปัตตามังแล้วเสร็จ เมื่อเดือนกันยายน 2551 แล้วก็ตาม แต่ก็สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายออกสู่ทะเลได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น สำหรับโครงการคลองผันน้ำคลองบางสะพาน ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลพงศ์ประศาสน์ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีลักษณะเป็นงานขุดลอกคลองระยะทางประมาณ 531 เมตร ลึก 6 เมตร ความกว้างท้องคลอง 32 เมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2563 ซึ่งหากโครงการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองบางสะพานได้ประมาณ 520 ลบ.ม. ต่อวินาที ไปออกสู่ทะเลได้เร็วขึ้น ช่วยควบคุมหรือบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ชุมชนตัวเมืองอำเภอบางสะพาน ในรอบปีการเกิด 10 ปี ได้อย่างมีประสิทธิผล ทั้งยังช่วยลดพื้นที่น้ำท่วมในเขตอำเภอบางสะพานได้ถึง 4,894 ไร่ ชาวบ้านได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น 1,640 ครัวเรือน ที่สำคัญช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนเพชรเกษม ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญเพียงเส้นเดียวที่จะเดินทางลงสู่ภาคใต้อีกด้วย เป็นการยกระดับชีวิตของราษฎรในพื้นที่ให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยได้เร่งรัดให้ดำเนินการโครงการให้แล้วเสร็จตามแผนในปี 2563 นี้