บ่อยครั้งที่เทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟน ถูกมองทางลบว่า ทำให้เกิดปรากฏการณ์สังคมก้มหน้า ไม่สนใจใยดีคนรอบข้าง แต่ด้านบวก นอกจากอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันแล้ว ยังสามารถใช้ในการบริหารจัดการน้ำของเกษตรกรได้ด้วย โดยเฉพาะแอพพลิเคชั่น ไลน์ ที่จัดตั้งเป็นห้องสนทนาระหว่างผู้เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เกษตรกร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฝ่ายปกครองและตัวแทนกรมชลประทานในระดับพื้นที่ สามารถส่ง-แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับน้ำได้อย่างรวดเร็ว ทันการณ์ ทันเวลาสำหรับการบริหารจัดการน้ำเป็นอย่างยิ่ง และเกิดประโยชน์ต่อคนหมู่มาก 	นายพรชัย พ้นชั่ว ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ สำนักงานชลประทานที่ 9 กรมชลประทาน นายพรชัย พ้นชั่ว ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ สำนักงานชลประทานที่ 9 กรมชลประทาน กล่าวว่า ในอดีตการส่งน้ำในช่วงฤดูแล้ง (มกราคม-พฤษภาคม) มักมีปัญหาน้ำไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการ เพราะมีการแย่งน้ำกัน เกษตรกรปลายทางไม่ได้รับน้ำก็ร้องเรียนมา ตนจึงลงสำรวจพื้นที่พร้อมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อหาข้อมูลคลายข้อสงสัย ซึ่งพบเกษตรกรใช้กระสอบทรายกักน้ำเป็นระยะๆ เพื่อให้น้ำไหลเข้าสระของตัวเองหรือสูบน้ำขึ้นไป “ผมลงไปคุยกับชาวบ้าน ขอร้องให้เขารื้อกระสอบทรายออก ไม่เช่นนั้นน้ำไปไม่ถึงปลายทาง บอกกับเขาว่าถ้ามีปัญหาน้ำก็ขอให้แจ้งจะจัดการให้ทันที ผมใช้วิธีการให้เบอร์โทรศัพท์มือถือแลกกัน เดินสำรวจตลอดคลองนับสิบกิโลเมตร เจรจาขอร้องกับทุกกลุ่ม สุดท้ายทุกคนยอมรื้อกระสอบทรายออก หรือเปิดช่องให้น้ำผ่านลงไปด้านล่างได้ เพียงแค่ 2 วันน้ำก็ถึงปลายคลอง นับแต่นั้นมาไม่มีปัญหาจากการกั้นกระสอบทรายเลย เพราะต้องการน้ำก็โทรมาได้ ผมพร้อมสูบน้ำให้ตลอด 24 ชั่วโมง”อ่างเก็บน้ำประแสร์ อ.วังจันทร์ มีความจุอ่างเก็บน้ำ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรในโครงการฯ ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวารวมกว่า 175,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ อ.วังจันทร์ อ.เขาชะเมาและ อ.แกลง แล้ว ยังส่งน้ำเพื่ออุตสาหกรรมและอุปโภคบริโภคไปให้ทั้งอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ส่งต่อไปยังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด พัทยา และชลบุรี จากโทรศัพท์มือถือได้พัฒนามาใช้แอพพลิเคชั่น ไลน์ จัดตั้งห้องไลน์ให้ทุกคนสามารถสนทนา แจ้งข้อมูลน้ำได้ตลอดเวลา จากเริ่มต้นสมาชิกไม่กี่คน ขณะนี้มีมากร่วม 100 คน และจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และสมาชิกในกลุ่มยังคงเชิญเกษตรกรผู้ใช้น้ำที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกลุ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ “ขาดน้ำเขาแจ้งมา เราก็ส่งไป บางทีน้ำก็ล้นความต้องการ ผมก็ขอให้เขาแจ้งกลับมาด้วยว่า ได้รับน้ำเพียงพอแล้ว เราจะได้หยุดส่ง เกษตรกรก็ให้ความร่วมมือ เพราะตระหนักดีว่าควรประหยัดน้ำ ตอนนี้ห้องไลน์เลยกลายเป็นศูนย์กลางการมีส่วนร่วมไปในตัว มีการแจ้งข่าวสารข้อมูลจากทุกฝ่าย ไม่ใช่จากกรมชลประทานฝ่ายเดียว แต่จากเกษตรกรผู้ใช้น้ำด้วย ฝ่ายปกครองอย่างนายอำเภอ หรือ อปท. อย่างนายก อบต. หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ล้วนร่วมรับรู้ข้อมูลสภาพปัญหาด้วยกัน ทำให้การบริหารจัดการน้ำโครงการฯ ประแสร์ราบรื่น” นายพรชัยกล่าว นายพรชัยกล่าวว่า ลำพังการส่งน้ำโดยอาศัยเจ้าหน้าที่ชลประทานเพียงอย่างเดียวก็ไม่ทั่วถึง ยังต้องอาศัยทั้งเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และกลุ่มผู้ใช้น้ำ ซึ่งเมื่อมีห้องไลน์ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาก็แจ้งตารางการส่งน้ำให้ทราบเป็นการล่วงหน้า “ถึงเวลาเขาก็เปิดปิดวาล์วจุดจ่ายน้ำเอง บริหารจัดการน้ำกันเอง ชลประทานเสมือนเป็นตัวเสริมในแง่จัดการส่งน้ำให้ ห้องไลน์จึงมีทั้งข้อมูล ทั้งภาพแสดงการขาดน้ำ การได้รับน้ำแล้ว การแจ้งให้หยุดจ่ายน้ำเพื่อประหยัดน้ำ ทำให้เกษตรกรมีความเข้าใจ ไม่แย่งชิงน้ำเหมือนแต่ก่อน เพราะเข้าใจถึงหัวอกของคนใช้น้ำด้วยกัน” นายสุจินต์ หลิ่มโตประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน นายสุจินต์ หลิ่มโตประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทานกล่าวว่า การมีส่วนร่วมของเกษตรกรในโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ ส่วนที่สำคัญคือการยึดแนวทางเข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่า ผู้บริหารโครงการต้องลงไปพบปะเกษตรกรผู้ใช้น้ำตลอดเวลา เพื่อรับทราบสภาพปัญหา และแก้ไข อีกทั้ง ยังใช้เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ เช่น ห้องไลน์สำหรับสื่อสารสนทนาจากหลายฝ่าย ทำให้ทุกคนได้รับรู้สภาพน้ำร่วมกันทั้งหมด และเกษตรกรผู้ใช้น้ำมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำอย่างมาก