กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนชงจัดประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจสมัยพิเศษพ.ค.นี้ รับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 แง้มข่าวดี เวียดนามพร้อมลงนาม MRA ยานยนต์ ขณะที่ระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียนจะเริ่มใช้งานได้ภายในวันที่ 1 ก.ย.63 แน่นอน นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน หรือ SEOM ครั้งที่ 2/51 ผ่านระบบทางไกล ระหว่างวันที่ 27-28 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยไฮไลท์สำคัญของการประชุมคือการเร่งหาแนวทางรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยการรักษาความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค เพื่อให้การค้าการลงทุนเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งที่ประชุมตกลงเสนอให้มีการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนสมัยพิเศษ (Special AEM) ในเดือนพ.ค.63 เพื่อพิจารณาร่างแผนงานที่เจ้าหน้าที่อาวุโสจะจัดทำขึ้น ตามที่ผู้นำอาเซียนได้มอบหมายไว้ในการประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษเมื่อวันที่ 14 เม.ย.63 นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีข่าวดีสำหรับกลุ่มสินค้ายานยนต์ โดยเวียดนามพร้อมลงนามข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ยานยนต์ได้ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 52 เดือนส.ค.นี้ ขณะที่การหารือจัดทำ MRA สินค้าวัสดุก่อสร้างคาดว่าจะหาข้อสรุปได้ในเร็ววัน ทั้งนี้ เมื่อ MRA มีผลบังคับใช้จะทำให้การส่งออกสินค้ายานยนต์และวัสดุก่อสร้างไปยังประเทศสมาชิกมีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องตรวจสอบรับรองมาตราฐานซ้ำอีก หากผ่านการตรวจรับรองจากต้นทางแล้ว นอกจากนี้ ในส่วนของระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองที่เป็นระบบเดียวกันทั้งอาเซียนนั้น ทุกประเทศยืนยันว่าจะสามารถเริ่มใช้งานได้ภายในวันที่ 1 ก.ย.63 แน่นอน ทั้งนี้อาเซียนยังได้หารือกับประเทศคู่เจรจาที่สำคัญอีก 5 การประชุมประกอบด้วย 1.จีน ได้ตกลงที่จะมีถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีในเรื่องการกระชับความร่วมมือภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-จีน และการรับมือกับโควิด-19 2.ญี่ปุ่น หารือแผนปฏิบัติการภายใต้ถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่นเรื่องความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ได้ประกาศเมื่อวันที่ 22 เม.ย.63 โดยเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน และการเร่งรัดการมีผลบังคับใช้ของพิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ซึ่งได้เพิ่มเรื่องการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุน ในความตกลง AJCEP ซึ่งญี่ปุ่นกำลังจะให้สัตยาบัน ซึ่งจะทำให้ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับประมาณกลางปีนี้ 3.เกาหลี หารือแนวทางการเปิดเสรีสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติมภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-เกาหลี (AKTIGA) และหารือแนวทางและมาตรการในการรับมือโควิด-19 โดยตกลงที่จะมีถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-เกาหลีในเรื่องนี้ 4.การหารืออาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) ได้ตกลงที่จะให้มีถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวกสามในเรื่องการรับมือทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และหารือการจัดทำการศึกษาร่วมกันเกี่ยวกับผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของประเทศอาเซียนบวกสาม 5.แคนาดา เรื่องความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับแคนาดา โดยแคนาดาพร้อมจะสนับสนุนการจัดอบรมให้ความรู้ในสาขาที่อาเซียนยังขาดประสบการณ์ให้อาเซียนผ่านระบบทางไกลอีกด้วย ทั้งนี้ ในปี 2562 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่าการค้ารวม 107,928 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 62,904 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,024 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียนได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนการค้าระหว่างไทยกับจีน มีมูลค่า 79,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ญี่ปุ่น 57,780 ล้านเหรียญสหรัฐ และเกาหลี 13,367 ล้านเหรียญสหรัฐ