รศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กชื่อ Seri Phongphit ระบุว่า... #มลพิษกับโควิด-19 . (25) Covid-19 เรียนรู้จากสถานการณ์ (1-05-2020) . @ ทุกปีมลพิษคร่าชีวิตคนทั่วโลก 4.2 ล้านคน สถานการณ์โควิด-19 เลวร้ายลงเพราะมลพิษทางอากาศซึ่งเป็นสื่อการระบาดที่ดี งานวิจัยเมื่อปี 2003 ตอนที่ Sars ระบาด พบว่า คนที่ติดไวรัสนี้ 84% เสียชีวิตถ้าอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษสูง การพัฒนาคุณภาพอากาศจึงเป็นเรื่องสำคัญในการเอาชนะโควิดตัวนี้ด้วย . มีข้อมูลจากงานวิจัยว่า ผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่มีมลพิษสูงมีแนวโน้มเสียชีวิตจากโควิด-19 มากกว่าคนอื่น งานวิจัยในหลายมหาวิทยาลัยของอิตาลีพบวันนี้ว่า ที่ใดอากาศไม่ดี มีมลพิษสูง คนจะป่วยด้วยโควิด-19 มากกว่าพื้นที่อื่น อย่างที่แคว้นลอมบาร์เดียที่มีอุตสาหกรรมมาก ประชากรหนาแน่น . โควิด-19 แสดงไว้ชัดเจนว่า คนที่ฐานะเศรษฐกิจต่ำ การกินอยู่ไม่ดี อยู่ในที่แออัด เสี่ยงติดโรคและเสียชีวิตมากกว่าคนอื่นหลายเท่า อย่างที่สหรัฐอเมริกาที่มีตัวเลขของคนผิวดำสูงกว่าคนผิวขาว . เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องภูมิอากาศไม่ใช่ “เรื่องฟุ่มเฟือย” แบบพวกโลกสวยว่างมาก อีกต่อไป ไม่ใช่ต้องเลือกเศรษฐกิจก่อน แต่ไปด้วยกันได้ ลดมลภาวะเพื่อสุขภาพ และจะต้านโควิดและไวรัสอื่นได้ดีกว่า . โพลเห็นด้วยกับความคิดนี้ คนอังกฤษ 66% เห็นว่า ภูมิอากาศเป็นปัญหาระยะยาวเหมือนโควิด-19 อีก 58% เห็นว่าต้องจัดอันดับความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม ภูมิอากาศในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ . ในอีก 14 ประเทศ คนก็เห็นด้วยและสนับสนุนความคิดนี้มากกว่าอีก ในจีน เยอรมัน ฝรั่งเศส อินเดีย อิตาลี ญี่ปุ่น แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลียก็สนับสนุนให้จัดอันดับความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมในโปรแกรมกระตุ้นเศรษฐกิจ . เมื่อวันที่ 22 เมษา 1970 หรือเมื่อ 50 ปีก่อน คน 20 ล้านคนเดินขบวนไปทั่วสหรัฐอเมริกาเพื่อประท้วงเรื่องสิ่งแวดล้อม หลังจากที่พวกเขาเห็นภาพที่นักบินอวกาศถ่ายไว้ตอนอยู่เหนือโลก กับสภาพที่เป็นจริงที่คนอเมริกันประสบ เรียกร้องให้มีมีการ “คุ้มครองโลก” ซึ่งต่อมาองค์การสหประชาชาติได้เลือกวันที่ 22 เมษายนเป็น Earth Day หรือวันคุ้มครองโลก . นั่นคือระยะเดียวกับการก่อเกิดกลุ่มอนุรักษ์โลก Greenpeace ซึ่งเติบโตกระจายไปกว่า 55 ประเทศทั่วโลกวันนี้ ที่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ขบวนการอื่นๆ เกี่ยกับ “โลกสีเขียว” ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง อย่างกรณีพรรคกรีน พรรคสีเขียว หรือชื่ออื่นๆ ที่เลือกประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นหัวข้อใหญ่ในนโยบายการเมือง . ล่าสุด คือ ขบวนการ Extinction Rebellion (ขบถต่อการสูญสลาย) ก่อตั้งที่อังกฤษเมื่อปี 2018 รณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมโลกแบบอหิงสาและอารยะขัดขืน เรื่องภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ . และขบวนการ FridaysForFuture (FFF) หรือวันศุกร์เพื่ออนาคต หรืออีกหลายชื่อ เป็นขบวนการของนักเรียนที่หยุดเรียนวันศุกร์เพื่อไปเดินขบวนประท้วง เรียกร้องให้นักการเมืองลงมือปกป้องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และเปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลน้ำมันถ่านหินไปเป็นพลังงานหมุนเวียน . เริ่มจากเกรตา ทูนเบอร์ก สาวน้อยชาวสวิดีชวัย 15 ปีที่หนีเรียนไปประท้วงหน้ารัฐสภาสวิเดน เพื่อให้นักการเมืองมีนโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ อันเป็นที่มาของขบวนการ FFF ที่นักเรียนประถมมัธยมออกไปเดินขบวนประท้วงในกว่า 150 ประเทศทั่วโลกหลายครั้ง รวมนับล้านคนเมื่อปี 2019 ขณะนี้หยุดไปเพราะโควิด-19 แต่ก็ประกาศว่า เมื่อโรคระบาดผ่านไปจะออกเดินอีกอย่างแน่นอน . @ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมวันนี้ไม่มีใครเถียงว่าเกี่ยวข้องกันชัดเจนขนาดไหน งานวิจัยทั่วโลกยืนยันเรื่องนี้ อยู่ที่ว่าจะนำไปสู่การปรับตัวของแต่ละประเทศแค่ไหนและอย่างไร . ความจริง ก่อนนี้เมืองใหญ่จำนวนมากก็มีการวางผังเมืองกันดี พยายามให้มีสีเขียวเพียงพอเป็นปอดของเมือง เป็นที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากมลพิษ ทำให้ผู้คนออกไปเดินเล่น ออกกำลังกายในสวนสาธารณะได้ . เมืองที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองสีเขียวและดีต่อสุขภาพก็มีโคเปนเฮเกน สิงคโปร์ แวนคูเวอร์ อัมสเตอร์ดัม สต็อคโฮม เป็นต้น เมืองเหล่านี้ใส่ใจต่อสภาพอากาศด้วยการออกแบบเมือง ผังเมืองให้มีความสมดุล นอกจากต้นไม้มาก มีสวนสาธารณะ มีแม่น้ำ ลำคลองธรรมชาติหรือที่ขุดขึ้น ยังมีระบบการระบายน้ำเสียน้ำฝนที่ดีอีกด้วย รวมไปถึงการจัดการกับขยะของเสีย . หลายปีก่อน ตอนที่พลตรีจำลอง ศรีเมืองเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ เรื่องหนึ่งที่ได้รับคำชื่นชมจากคนไทยและต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงมากที่สุด คือ การกำจัดขยะ ผมมีเพื่อนชาวดัชที่ทำงานในสถานทูตเนเธอร์แลนด์ เขาอยากให้ผู้ว่าคนนี้อยู่นานๆ เพราะปากซอยบ้านเขาแถวสุขุมวิทไม่มีขยะเน่าเหม็นเหมือนเมื่อก่อนอีกเลย . กรุงเทพฯ วันนี้ก็มี Green Bangkok 2030 เป็นหมุดใหญ่เพื่อช่วยกันสร้างเมืองที่น่าอยู่ด้วยอากาศดีไม่มีมลพิษ แต่ประเด็นคงไม่ใช่เพียงเรื่องการปลูกต้นไม้ในพื้นที่สาธารณะที่หายาก แต่รักษาต้นไม้ที่มีอยู่ก็ยากยิ่งกว่า เพราะดูเหมือนคนปลูกคนอนุรักษ์กับคนตัดคิดไม่ตรงกันเสมอไป จึงมีการประท้วงเพราะ “กทม.” ไปตัดต้นไม้ในที่ที่ประชาชนเห็นว่าควรอนุรักษ์ไว้ . ปัญหาใหญ่ของการสร้างเมืองน่าอยู่มลพิษน้อยอยู่ที่วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ของฝ่ายการเมือง ทั้งของกทม.และรัฐบาลเองว่าต้องการเห็นกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร ทำได้หรือไม่ เพราะมีเมืองใหญ่ในโลกที่ทำเป็นตัวอย่างไว้มากมายหลายแห่ง อย่างกรุงโซลของเกาหลี เกียวโต โอซากาของญี่ปุ่น โอ้กแลนด์ในแคลิฟอร์เนีย และอื่นๆ . คงเป็นเรื่องไม่ง่ายอย่างที่หลายคนบอก เพราะบ้านเราไม่มีระบบโครงสร้างที่พร้อม งบประมาณก็ดี แผนพัฒนาทั้งระบบก็ดี ยังมีปัญหาอีกมาก การทำงานที่ไม่มีการบูรณาการแผน แค่ขุดถนนก็ทำกันหลายชั่วโคตรเพราะผลัดกันขุด ประปาที ไฟฟ้าที วางท่อระบายน้ำที ยังมีโทรศัพท์ทั้งของหลวงของเอกชนอีก แค่เอาสายไฟสายโทร.ที่พันกันเต็มสองข้างถนนลงใต้ดินในเมืองกรุงก็สาหัสแล้ว ถ้าทำสำเร็จก็นับว่าบุญ . รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจสังคมของคนจนในเมือง ชุมชนแออัดที่เป็นปัญหาโลกแตก ดูเหมือนว่าก็กำลังค่อยๆ แก้ไขระบายขึ้นแฟลตขึ้นคอนโดบ้าง ออกไปนอกเมืองบ้าง หรือที่อยู่ริมคลองต่างๆ ก็จัดระเบียบเท่าที่จะทำได้ . แต่ที่ดูจะทำไม่ได้ คือ การทำให้คลองต่างๆ ใสสะอาด เอาแค่ไม่มีขยะลอยมาเต็มคลองและอุดทางระบายน้ำก็ยังทำไม่ได้ทุกคลอง เพราะคนก็ยังทิ้งข้าวของขยะเล็กใหญ่ลงคลองเหมือนเดิม คนเก็บก็ย้องเก็บทุกวัน . อีกอย่าง การระบายน้ำจากบ้านเรือนลงคลองลงแม่น้ำก็ยังไม่มีเป็นระบบบังคับอะไร มีกฎหมายสำหรับการประกอบการร้านค้า โรงงาน แต่เขาจะบำบัดก่อนปล่อยลงคลองลงแม่น้ำไปหรือไม่เป็นอีกเรื่อง อาจจะทำเมื่อไปตรวจ . กรุงเทพฯ จึงเป็นเวนิสเน่าๆ แห่งตะวันออกต่อไป เพราะคลองยังน้ำดำและส่งกลิ่นหลายแห่ง ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนอย่างแน่นอน ถ้าไวรัสจะระบาดเร็วในกรุงเทพฯ จึงพอเข้าใจได้ . กรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร เมืองที่คนมาเที่ยวชมมากที่สุดในโลก มีเสน่ห์ มีศิลปะวัฒนธรรมสวยงาม มีอาหารข้างทางอร่อยที่สุดในโลก มีคนที่ต้อนรับด้วยยิ้มสยามแม้ในยามลำบากยากแค้นก็ยิ้มสู้ แต่ดูเหมือนว่า พยากรณ์ภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น น้ำทะเลที่สูงขึ้นทุกปีจะทำให้กรุงเทพฯ อยู่รอดได้อีกกี่ปี อันนี้น่าเป็นห่วงกว่าอีก . ใครพอมีลู่ทางไปอยู่ชนบทได้ก็ควรหาทางไป ที่อากาศดี ไม่มีมลพิษ มีป่ามีไม้ มีน้ำใส มีดินดี ปลูกอะไรก็ขึ้น เลี้ยงอะไรก็โต เมืองไทยหลังโควิดน่าจะส่งผลให้ชนบทได้เติบโตในวิถีชีวิตใหม่ได้ดีกว่าในเมือง . @ ถ้าจะอยู่ต่อไปในกรุงเทพฯ ก็น่าจะขอคำแนะนำจากศาสตราจารย์ดร.สุนทร บุญญาธิการ อดีตคณบดีคณะสถาบัตย์ จุฬาฯ ปัจจุบันนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม . ที่อยากพูดถึงท่านก่อนจบบทความนี้ เพราะท่านเป็นปรมาจารย์การออกแบบที่อยู่อาศัยให้ดีต่อสุขภาพ โดยอาศัยภูมิปัญญาไทย ภูมิปัญญาตะวันออกเรื่องฮ่วงจุ้ย ท่านเรียนจบปริญญาตรีที่จุฬาฯ แล้วไปต่อปริญญาโทและเอกที่สหรัฐอเมริกา และสอนที่นั่นรวมเวลาเกือบ 20 ปี จึงได้กลับมาเมืองไทย . ท่านไปสอนฝรั่งให้รู้ว่า บ้านไทยเรือนไทยโบราณเป็นอย่างไร ทำไมเขาจึงสร้างกันแบบนั้น ทำไมถึงต้องยกสูงจากพื้น เพราะเมืองไทยเป็นที่ร้อนชื้น ฝนตกน้ำท่วม บ้านไทยมีประตูหน้าต่างมากเพื่อให้ลมผ่าน ด้านบนก็มีช่องระบายลมระบายอากาศ เจาะเป็นลายเถาวัลย์ ลมผ่านได้ หลังคาสูง ไม่มีฝ้า ทำให้ลมร้อนลอยขึ้นไปออกด้านบนได้ ถ้าไม่ทำเช่นนั้น คนในบ้านจะเจ็บป่วยตลอด เพราะบ้านหมักหมมเชื้อโรคไว้ . อาจารย์สร้างบ้านของตนเองสมัยใหม่ แต่อาศัยภูมิปัญญาไทยช่วยให้มีการระบายอากาศหมุนเวียนในบ้าน ลดภาระแอร์ ใช้แอร์น้อยกว่าบ้านทั่วไป อยู่กรุงเทพฯ ยังต้องมีแอร์ เพราะอุณหภูมิวันนี้ต่างจากเมื่ออดีต . ระหว่างโควิดระบาดนี้ ผมนั่งเขียนหนังสืออยู่ที่ปากช่อง ในบ้านที่ท่านอาจารย์สุนทรกับดร.สุธีวัน โล่ห์สุวรรณ ลูกศิษย์และผู้ช่วยของท่านได้กรุณาร่วมกันออกแบบสร้างให้ . เป็นบ้านประหยัดพลังงาน บุด้านนอกด้วยโฟม มุงด้วยโฟมหนาแปดนิ้วสี่แผ่นประกบกัน ไม่มีขือไม่มีแป จึงมีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้นอีกมาก ใช้แอร์เพียงชั้นละตัว ส่วนใหญ่ไม่เปิดแอร์ก็เย็นสบายดี . ผมเป็นหนี้บุญคุณกัลยาณมิตรอย่างท่าน ที่ทำให้ผมมีที่พักอาศัยในยามสูงวัย มีที่หลบภัยในยามวิกฤติ ในที่อากาศดี อาหารดี มีผักผลไม้ดีๆ รับประทาน