เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 29 เมษายน ที่ห้องประชุมสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา นายอภินันท์ เผือกผ่อง รอง ผวจ.นครราชสีมา เป็นประธานการประชุมคณะทำงานควบคุมและป้องกันโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าจังหวัดนครราชสีมา ครั้งที่ 2/2563 ประกอบด้วยนายฉัตรณรงค์ ศิริพร ณ ราชสีมา ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด(ปภ.จ.) นครราชสีมา นายพศวีร์ สมใจ ปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา นายสุนทร แพงไพรี อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการม้าแข่งจังหวัดนครราชสีมา นายพุฒิพัฒน์ พงษ์ไชยกุล ประธานชมรมเจ้าของม้าแข่งจังหวัดนครราชสีมาและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหารือในระเบียบ วาระกำหนดมาตรการเฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันโรคและบูรณาการภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน รวมทั้งลงพื้นที่สำรวจจำนวนประชากรและขึ้นทะเบียนม้า ลา ล่อ ม้าลายและอูฐ เพื่อนำข้อมูลมาพิจารณาหาข้อสรุปการให้ความช่วยเหลือเยียวยาตามมาตรการ ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นายพศวีร์ ปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา ได้รับรายงานพบม้าตัวแรกป่วยเป็นโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ตรวจสอบเป็นสายพันธุ์ Serotype 1 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่พบครั้งแรกในประเทศไทย เกิดจากเชื้อไวรัสไม่มียารักษาจำเพาะและไม่ติดต่อสู่คนและปศุสัตว์ สาเหตุแมลงดูดเลือดเช่นริ้น ยุง ฯ เป็นพาหะนำเชื้อสู่ม้า ระยะฟักตัว 2-14 วัน ทำให้ม้าป่วยและตายเฉียบพลัน เกิดขึ้นในฟาร์มม้าจำนวน 47 แห่ง พื้นที่ ต.ปากช่อง ต.ขนงพระ ต.หมูสี ต.โป่งตาลอง ต.หนองน้ำแดง และ ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่ตั้งของสถานีเพาะพันธุ์ม้าแข่งของประเทศไทย ทำให้ม้าแข่งชื่อดังในอดีตและปัจจุบันและลูกม้ารวมทั้งม้าประเภทอื่นๆ ป่วยด้วยอาการไข้สูง ขอบตาบวมแดง หน้าตาบวมหายใจติดขัดเสียงดังเกร็งและตายในเวลา 24-48 ชั่วโมง สถานการณ์ล่าสุดมีม้าตายสะสมส่วนใหญ่เป็นม้าแข่งจำนวน 405 ตัว และป่วยสะสม 427 ตัว ซึ่งม้าป่วยมีโอกาสตายเฉลี่ย 95 % หากรอดก็เป็นม้าขี้โรคไม่แข็งแรงประเมินมูลค่าความเสียหายหลายสิบล้านบาท แนวทางสกัดการแพร่ระบาดได้เก็บตัวอย่างเลือดม้าจำนวนกว่า 1,000 ตัว ในฟาร์มม้าพื้นที่ อ.ปากช่อง นำส่งตรวจห้องปฏิบัติการ เพื่อฉีดวัคซีนให้ม้าที่มีผลเลือดเป็นลบและใช้เวลาสร้างภูมิคุ้มกันประมาณ 21-28 วัน ทั้งนี้ก่อนฉีดวัคซีนทุกฟาร์มต้องทำมุ้งสีขาวและสร้างสุขนิสัยคัดกรองม้าป่วยให้แยกออกทันทีและอุปกรณ์ต่างๆห้ามใช้ร่วมกัน คนเลี้ยงหรือผู้เกี่ยวข้องก่อนและหลังสัมผัสม้าให้ทำความสะอาดร่างกายและสวมถุงมือทุกครั้งรวมทั้งดูแลสอดส่องการเคลื่อนย้ายม้านอกเขต ซึ่งอาจเป็นม้าที่ป่วยและเป็นพาหะนำโรค นายอภินันท์ รอง ผวจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) โรคระบาดสัตว์ พ.ศ 2558 เงินค่าชดเชยจากการสั่งทำลายสัตว์ที่สัตวแพทย์สั่ง ต้องเป็นโรคโลหิตจางติดเชื้อในม้า มักเป็นแบบเรื้อรัง ตายช้าหรือติดแต่ไม่ตาย กลายเป็นพาหะแพร่โรคได้ตลอดชีวิต ไม่มียารักษา เมื่อเจอผลบวกก็สั่งทำลายแล้วจ่ายค่าชดเชย 3 ใน 4 ของราคาตลาด กรณีโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ม้าเป็นแล้วตายเร็ว ถ้าเจ้าของให้ปศุสัตว์ทำลายก็ไม่สามารถจ่ายเงินชดเชยได้ จึงไม่เข้าคำนิยามของ พ.ร.บ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ 2550 เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ซึ่งโรคดังกล่าวเป็นโรคอุบัติใหม่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือกรณีม้าตาย มติการประชุมให้ดำเนินการชดเชย แต่ พ.ร.บ.ควบคุมโรคระบาดสัตว์ไม่ครอบคลุมต้องประกาศให้เป็นเขตภัยพิบัติการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง หากมติอนุมัติจะสามารถให้การช่วยเหลือม้าตายแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือม้าแข่งหรือม้ากระโดดข้ามเครื่องกีดขวางและม้าแคระหรือม้ากระจ้อนไทย ทั้งหมด 7 เรื่อง ดังนี้ 1.วัคซีนป้องกันโรคกาฬ 2.มุ้งขาว 3.ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าเชื้อโรค 4.เครื่องพ่นน้ำยา 5.น้ำส้มควันไม้ 6.การดูแลเฝ้าระวังสัตว์ที่ติดเชื้อและมีอาการป่วย 7.การจัดการซากสัตว์ที่ตายจากการติดเชื้อต่อไป ด้านนายสุนทร อุปนายกสมาคม กล่าวขอบคุณคณะทำงานที่เล็งเห็นความสำคัญของการประกอบอาชีพเกี่ยวกับม้า โปรดอย่ามองม้าเป็นการพนันเพียงอย่างเดียว ม้ากระโดดข้ามเครื่องกีดขวางได้สร้างชื่อเสียงในกีฬาระดับโลก คว้าชัยชนะมาแล้วหลายรายกาย อย่างไรก็ตามการเยียวยา ช่วยเหลือแม้นไม่สามารถชดเชยกับมูลค่าม้าแข่งที่ตายได้แต่เป็นบรรทัดฐานหากมีม้าตายจากโรคระบาดที่ไม่พึงประสงค์และเกิดจากการลักลอบนำม้าลาย สัตว์ข้ามถิ่นเข้ามาเมืองไทยโดยไม่ผ่านกระบวนการกักกัน ภาครัฐจะนำไปเป็นบทเรียนและมีแนวทางช่วยเหลือตามความเหมาะสมต่อไป นครราชสีมา/เกษม ชนาธินาถ