ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสต์ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thira Woratanarat ระบุว่า ...
การป้องกันการติดเชื้อในรถแท็กซี่ โดย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายธีระวัฒน์ วรธนารัตน์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และรศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เดือนก่อนทีมคณบดีโรงเรียนแพทย์ทั้งจุฬาฯ ศิริราช ธรรมศาสตร์ และรามาธิบดี ได้ไปเรียนหารือกับทางกรุงเทพมหานคร เพื่อพัฒนาแนวทางการป้องกันการแพร่เชื้อโรค COVID-19 ในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ที่มีโอกาสจะเป็น Super-spreader ในอนาคต หนึ่งในกลุ่มที่เราเป็นห่วงมากคือ แท็กซี่ เสี่ยงทั้งคนขับที่จะติดจากผู้โดยสาร และผู้โดยสารจะติดจากคนขับ เพราะห้องโดยสารเป็นระบบปิด ดังนั้น หากจะปลดล็อคให้มีการดำเนินชีวิตของประชาชน ประชาชนก็จำเป็นที่จะต้องรู้ ว่าจะใช้บริการแท็กซี่เดินทางไปไหนมาไหนอย่างไรให้ปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถามว่าทำอย่างไรบ้าง? 1. ถ้าเราไม่สบาย ก็พักอยู่บ้าน อย่าไปตะลอนเลย ไม่งั้นจะแพร่เชื้อให้คนอื่น ไม่รู้จะหวัด หวัดใหญ่ หรือโควิด-19 2. ใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเสมอ 3. พกเจลล้างมือ ล้างทุกครั้งยามขึ้นและลงจากรถแท็กซี่ 4. นั่งเบาะหลัง ห่างๆ จากคนขับ 5. หากไอหรือจาม ควรใช้ทิชชู 6. เปิดหน้าต่างทั้งสองข้างเพื่อให้เกิดการระบายอากาศ ไม่ต้องลังเลว่าคนขับจะว่า เพราะนี่คือสิ่งที่ต้องทำ เพื่อความปลอดภัยของทั้งคนขับและผู้โดยสาร 7. บันทึกหรือจำชื่อนามสกุลคนขับ และทะเบียนรถ รวมถึงวันเวลาที่ใช้บริการ เพราะเวลาเราไม่สบายจะได้ตามหาได้ รัฐและเอกชนผู้ประกอบการก็จำเป็นต้องช่วยกันหาทางทำให้คนขับแท็กซี่ปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะชีวิตแต่ละวันก็มีความเสี่ยงจากการประกอบอาชีพ แท็กซี่ล่ะ ควรทำอะไรบ้าง? 1. แน่นอนว่า หากคนขับไม่สบาย ต้องหยุดให้บริการ 2. คนขับก็ต้องใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเสมอ 3. หมั่นทำความสะอาดรถอย่างสม่ำเสมอด้วยน้ำยาทำความสะอาดหรือแอลกอฮอล์ 70% โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณของรถที่มือจับบ่อยๆ 4. จัดหาเจลแอลกอฮอล์ และทิชชู ไว้ใช้และไว้บริการผู้โดยสารในรถ 5. เปิดแอร์ และเปิดหน้าต่าง เวลารับผู้โดยสาร เพื่อความปลอดภัยทั้งต่อตัวเองและต่อผู้โดยสาร 6. อย่าคุยพร่ำเพร่อ เพราะการพูดคุยจะมีละอองฝอยน้ำลายออกมาได้ 7. รับผู้โดยสาร ต้องให้เค้าใส่หน้ากาก และให้นั่งเบาะหลัง ถ้าไม่อยากติดเชื้อจากเค้า ถ้าเค้าไม่ใส่หน้ากาก ไม่ควรรับขึ้นรถมา 8. ถ้าคิดค่าโดยสารผ่านแอพต่างๆ ได้ ย่อมดี จะได้ไม่ต้องจับต้องธนบัตรหรือเหรียญ ที่อาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อได้ ถ้าทั้งผู้ประกอบการ คนขับ และผู้โดยสาร ช่วยกันปฏิบัติตัวดังกล่าวข้างต้น เราจะปลอดภัย ลดโอกาสติดเชื้อโรค COVID-19 ครับ เครดิต: ขอขอบคุณน้องรัชฎารินทร์ สนธยานาวิน นักศึกษาแพทย์วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่กรุณาวาดรูปน่ารักๆ นี้ครับ