“JMT”ส่งสัญญาณปี 63 พอร์ตซื้อหนี้พุ่ง ล่าสุดปิดดีลซื้อหนี้ไม่มีหลักประกันเข้ามาบริหารเพิ่มอีก 4,900 ล้านบาท ย้ำมองอัตราผลตอบแทนของกองหนี้ด้อยคุณภาพเป็นสำคัญเพื่อสร้างกำไร ขณะที่ปีนี้ภาพรวมเศรษฐกิจรับผลระทบจากพิษโควิด-19 ทำให้สถาบันการเงินต่างๆ ทยอยขายหนี้ออกมามากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4 แนะจับตาหลังมาตรการเยียวยาภาครัฐผ่อนคลายลง อาจเห็น NPL อยู่ในระดับสูงขึ้น ในส่วนของ JMT ยักษ์ใหญ่ธุรกิจบริหารหนี้พร้อมเป็นพันธมิตรกับสถาบันการเงิน จบช่วง 4 เดือนแรกของปี ทยอยซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท จากสิ้นปี 62 มีพอร์ตหนี้ 175,000 ล้านบาท นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน)หรือ JMT เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามในสัญญา เพื่อซื้อหนี้ด้อยคุณภาพประเภทไม่มีหลักประกันเข้ามาบริหาร มูลค่า 4,900 ล้านบาท จากสถาบันการเงินชั้นนำแห่งหนึ่ง สนับสนุนให้ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 JMT ซื้อหนี้เข้าพอร์ตแล้วรวมมูลค่า 10,000 ล้านบาท ทั้งหนี้ที่ไม่มีหลักประกันและหนี้มีหลักประกัน จาก ณ สิ้นปี 2562 มีพอร์ตบริหารหนี้รวม 174,490 ล้านบาท และจะทยอยเข้ามาสร้างรายได้และกำไรที่ดีต่อเนื่องในปี 2563 สนับสนุนผลประกอบการปีนี้โตต่อเนื่องจากปีก่อนตามเป้าหมายที่วางไว้ สำหรับกระแสเงินสดในการดำเนินงานมีเพียงพอ การเก็บเงินสด(Cash collection) ยังสามารถจัดเก็บได้ในอัตราปกติ อาจมีกระทบบ้างในช่วงโควิด 19 แต่ยังคงสามารถบริหารจัดการได้ เพราะบริษัทได้ผ่านสถานการณ์วิกฤต รวมทั้งโอกาสมาหลายครั้งแล้ว และวางงบลงทุนซื้อหนี้ปีนี้สูงขึ้นอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท คาดเป็นไปตามแผน ในช่วงไตรมาส 2/2563 บริษัทฯ ก็ยังทยอยซื้อหนี้เข้ามาบริหารเพิ่มอย่างต่อเนื่อง จากภาพรวมหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) ในระบบยังมีอยู่จำนวนมาก เนื่องจากปีนี้มีตัวแปรที่สำคัญคือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศไทย จึงต้องติดตามประเด็นดังกล่าวต่อไปอย่างใกล้ชิด และคาดว่าสถาบันการเงินจะเร่งทยอยขายหนี้ออกมาจำนวนมากในช่วงไตรมาส 3 และส่วนใหญ่ในไตรมาส 4 “ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 สถาบันการเงินต่างๆ ต้องทยอยรับรู้ผลกระทบจากมาตรการช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจและรายย่อยในช่วงระหว่างปี 2563 อาทิ มาตรการพักชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ ตลอดจนโอกาสที่คุณภาพหนี้จะถดถอย และมีผลกระทบต่อระดับการตั้งสำรองหนี้ด้อยคุณภาพ คาดว่า ในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งปกติจะเป็นช่วงที่มีการทยอยขายหนี้จากสถาบันการเงินต่างๆ ออกมาอยู่แล้ว คาดปีนี้จะได้เห็นมูลหนี้รวมที่อาจเพิ่มสูงขึ้น โดย JMT จะเป็นอีกกลไกสำคัญเพื่อพลิกฟื้นคุณภาพหนี้ของคนไทยให้กลับมาสู่ระบบ ย้ำการเป็นเบอร์หนึ่งภาคเอกชนในธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพรายใหญ่ของประเทศไทย”