ครม. รับทราบ คกก.ยาเสพติดสหประชาชาติ เลื่อนพิจารณาควบคุมขอบเขตการใช้กัญชาระหว่างประเทศไปปลายปี เผย ต้องคำนึงถึงผลกระทบทางศก.-การรับรู้ของสังคม เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. รับทราบรายงานสรุปผลการประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด (Commission on Narcotic Drugs: CND) สมัยประชุม ที่ 63 ระหว่างวันที่ 2-6 มีนาคม 2563 ณ สำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรเลีย มีสาระสำคัญดังนี้ 1) คณะผู้แทนไทยประกาศความสำเร็จในการดำเนินงานด้านการพัฒนาทางเลือกต่อเนื่อง 50 ปี ตามแนวทางศาสตร์พระราชาแก้ปัญหายาเสพติดบนพื้นที่เบื้องสูง ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง 2) ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหายาเสพติดผ่านความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 7 ประเทศ และเรียกร้องให้นานาชาติให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ และให้ความสำคัญกับความร่วมมือในการควบคุมเคมีภัณฑ์และสารตั้งต้น ปฏิบัติการร่วมสามเหลี่ยมทองคำ 1511 ของประเทศในกลุ่มลุ่มน้ำโขง ซึ่งสถานการณ์ทั่วโลกพบว่ามีการผลิตและการใช้สารสังเคราะห์อย่างเมทแอมเฟตามีน เพิ่มขึ้นอย่างมาก 3) ที่ประชุมมีมติให้ควบคุมสารเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทภายใต้อนุสัญญาควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ 3 ฉบับ รวม 14 รายการ น.ส.รัชดา กล่าวว่า 4) เสนอข้อมติด้านการพัฒนาทางเลือกร่วมกับรัฐบาลเปรู เรื่อง “การส่งเสริมการพัฒนาทางเลือกในฐานะยุทธศาสตร์การควบคุมยาเสพติดที่ใช้การพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุมนำ” โดยมีประเทศร่วมสนับสนุน เช่น ชิลี โคลอมเบีย เยอรมนี 5) สนับสนุนการยกระดับในการต่อสู้กับปัญหายาเสพติดของโลกผ่านการเป็นภาคีกับภาคเอกชน และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการพยายามป้องกันยาเสพติด และ 6) จะมีการหารือเรื่องการเปลี่ยนแปลงขอบเขตการควบคุมการใช้กัญชาและสารที่เกี่ยวข้องกับกัญชาภายใต้อนุสัญญาควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ ในช่วงเดือนธันวาคมปีนี้ เป็นการประชุมต่อเนื่องจากคราวนี้ เนื่องจากมีความเห็นที่แตกต่างกันของประเทศสมาชิก กล่าวคือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหภาพยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร แสดงความเสียดายทีมีการเลื่อนวาระขององค์การอนามัยโลกนี้ออกไปก่อน ขณะที่ จีน รัสเซีย ซูดาน และอียิปต์ เห็นว่าการพิจารณาประเด็นนี้ยังขาดหลักฐานที่ยืนยันชัดในทางวิทยาศาสตร์ว่ากัญชามีสรรพคุณทางการแพทย์อย่างแท้จริง และขอบเขตการควบคุมในปัจจุบันก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการนำกัญชาไปใช้ในทางการแพทย์และวิจัย อีกทั้ง การปรับเปลี่ยนขอบเขตการควบคุมกัญชาจำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย ตลอดจนทัศนคติ และความรับรู้ของสังคมอีกด้วย น.ส.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเทศไทยก็ต้องมีการกำหนดท่าทีเช่นกัน ซึ่งจะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน รัดกุม คำนึงถึงนโยบายยาเสพติดในประเทศ เพื่อให้ได้ข้อสรุปต่อการลงมติต่อไป