ผมอ่านบทความเรื่องปัญหาราคาไข่แพง คอลัมน์คนเดินตรอกของ ดร.โกร่ง วีรพงษ์ รามางกูร ในประชาชาติธุรกิจ แล้วอยากตะโกนดังๆว่า ทำไมรัฐบาลไม่รู้จักคิดแบบนี้ และทำอย่างไรคนไทยจะเข้าใจเศรษฐศาสตร์ไข่ไก่ได้อย่างที่ ดร.โกร่ง อธิบาย ... ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราพานพบประสบการณ์ไข่ล้น ไข่ขาดกันมาแทบจะทั้งชีวิต กระทั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องคิดหาวิธีที่จะทำให้สินค้าไข่ไก่มีเสถียรภาพ แล้วเราก็ได้ คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ขึ้นมาวางแผนแก้ปัญหากันมาตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งก็พอจะเห็นรูปร่างความร่วมมือกันของคนในวงการไข่ไก่ได้ชัดเจนขึ้น เกษตรกรคนเลี้ยงไก่ไข่ก็เหมือนคนในทุกอาชีพที่ต้องการขายไข่ในราคาคุ้มทุน มีกำไรเป็นรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัว ในขณะที่ผู้บริโภคคนในเมืองกลับต้องการกดราคาไข่ให้ต่ำเข้าไว้ จนมองข้ามไปว่าถ้าเกษตรกรอยู่ไม่ได้เจ๊งยับเลิกเลี้ยงกันไปหมด ปริมาณไข่ไม่เพียงพอเมื่อใด ราคาไข่ก็ต้องแพงขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่เสียงของคนเมืองมักจะดังกว่าเสียงเกษตรกรเสมอ ตัดภาพไปก่อนเกิดวิกฤตโควิด19 เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ต้องเป็นทุกข์จากภาวะราคาไข่ตกต่ำ จากการที่ผลผลิตมีมากเกินความต้องการ ร้อนถึงรัฐต้องส่งกรมปศุสัตว์เข้ามาแก้ปัญหา เป็นตัวกลางในการขอความร่วมมือผู้ผลิตไข่ทุกคน จำกัดปริมาณผลผลิตเพื่อดึงราคาไข่ขึ้นก่อนที่มันจะทำให้เกษตรกรล้มหายตายจากไปเหมือนในอดีต ไข่เป็นสินค้าที่มีผลผลิตออกทุกวัน มีความอ่อนไหวต่อทุกๆปัจจัยที่มากระทบ การบริหารจัดการจึงต้องรวดเร็วฉับไว มาตรการต่างๆถูกหยิบขึ้นมาใช้ อาทิ การระบายไข่ไปส่งออกต่างประเทศ และปลดแม่ไก่ยืนกรงที่มีอายุมากให้เร็วขึ้น เพื่อให้ปริมาณผลผลิตกับความต้องการบริโภคเกิดความสมดุล ... ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือบ้าง ไม่ได้รับความร่วมมือบ้าง ราคาไข่ไก่เริ่มดีขึ้น เกษตรกรเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่แล้วจู่ๆวิกฤตไวรัสโคโรน่ามาเยือน.... รัฐบาลประกาศ พรก.ฉุกเฉิน เกิดเป็นความตระหนกของประชาชน ซื้อไข่ไก่ตุนเข้าบ้านกันมากกว่าปกติ 3-5 เท่า กลายเป็น “ดีมานด์เทียม” ที่กระทบปริมาณผลผลิตทันที ผู้คนหาไข่ไก่ไม่ได้ ถ้าหาได้ก็แพงผิดปกติวิสัย ซึ่งเกิดจากการทำกำไรของพ่อค้าหัวใสไม่ต่างกับสินค้าเจลล้างมือ หรือหน้ากากอนามัย มิวายที่เกษตรกรหรือภาครัฐ ตลอดจนภาคเอกชน จะตะแบงเสียงยืนยันว่าไข่มีเพียงพอสำหรับคนไทยทั้งประเทศ ขอให้หยุดตุนไข่ ทุกอย่างก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเวลาไม่กี่วัน เพราะแม่ไก่ออกไข่ทุกวัน และพ่อค้าก็กักตุนไข่ได้ไม่นาน เนื่องจากไข่มันเน่าเสียได้ แต่ตราบใดที่เสียงของผู้บริโภคดังกว่าเสมอ ทำให้กระทรวงพาณิชย์ต้องสั่งระงับการส่งออกไข่ไก่ 7 วัน ทำให้ในแต่ละวันจะมีไข่กลับเข้าสู่ระบบวันละประมาณ 1 ล้านฟอง ขณะเดียวกันกระทรวงเกษตรฯ ก็สั่งยืดอายุแม่ไก่อายุ 80 สัปดาห์ให้ยืนกรงต่อไป เมื่อบวกกับแม่ไก่สาวที่จะฟักออกมาทุกสัปดาห์ๆละ 8.5 แสนตัว ยิ่งทำให้เครื่องจักรผลิตไข่เหล่านี้มีจำนวนมาก ป้อนไข่เข้าสู่ตลาดมากขึ้นทวีคูณ.... บอกแล้วว่าแค่หยุดตุนไข่ไก่ ทุกอย่างจะเข้าสู่ภาวะปกติเอง ไม่ใช่เพียงประชาชนหยุดตุนไข่เท่านั้น นี่ยังบวกกับมาตรการต่างๆที่เพิ่มปริมาณไข่เข้าไปในระบบอีก ผ่านไปเพียงไม่ถึงสัปดาห์ ราคาไข่ไก่ก็เข้าสู่ภาวะปกติ และกำลังเริ่มเข้าสู่ภาวะใกล้ล้นตลาด ลำพังการหยุดส่งออกไข่ 7 วัน ก็แก้ปัญหาได้แล้ว เพราะปริมาณไข่มีออกมาทุกวัน แต่จู่ๆ รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ก็ห้ามส่งออกไข่ไก่ไปอีก 30 วัน ... เอาล่ะสิ ... แบบนี้เรียกว่าทำอะไรไม่ปรึกษาเอ้กบอร์ดได้มั้ย? ปกติผู้ผลิตไข่จะไม่มีใครอยากส่งออก เนื่องจากส่วนใหญ่จะขายขาดทุนเพราะต้องสู้กับเจ้าตลาด และมักจะเป็นไปเพื่อเสียสละระบายไข่ รักษาเสถียรภาพราคาให้เกษตรกรในประเทศอยู่รอดเท่านั้น แต่หากปิดประตูไม่ให้ระบายไข่ส่วนเกินที่มีอยู่วันละ 1 ล้านฟองออกไป ผ่านไป 30 วัน ก็จะมีไข่เกินในระบบถึง 30 ล้านฟอง ไม่เท่านั้น หากผนวกกับการยืดอายุไก่ที่มีอายุ 80 สัปดาห์ออกไป จะทำให้ไก่แก่ยืนอยู่ในระบบอีกสัปดาห์ละ 1 ล้านตัว ภายใน 4 สัปดาห์ จะมีไก่แก่ถึง 4 ล้านตัว ไก่พวกนี้ให้ไข่เพียง 80% ดังนั้น คำนวณได้เลยว่า จะมีไข่ส่วนเกินจากแม่ไก่แก่เข้าสู่ระบบถึงวันละ 3.2 ล้านฟอง หรือ 96 ล้านฟองใน 30 วัน หากรวมไข่ส่วนเกินจากสองมาตรการคือไข่ที่ห้ามส่งออก 30 ล้านฟองกับไข่ส่วนเกินจากแม่ไก่แก่ 96 ล้านฟอง เท่ากับว่า หลังจาก 30 วันผ่านไป จะมีไข่ส่วนเกินสะสมอยู่ในระบบร่วมๆ 126 ล้านฟอง เห็นตัวเลขไข่เกินแล้ว สงสารเกษตรกรจับใจ ไข่ส่วนเกินในที่นี้คือ คนกินไม่ทัน-คนซื้อไม่มี ปัญหาจะตามมาให้แก้อีกเยอะ เพราะผลลัพธ์ที่รออยู่คือ ราคาไข่จะตกต่ำจนเกษตรกรขาดทุนหนักยิ่งกว่าช่วง 5-6 ปีที่แล้ว ที่แม้แต่คนซื้อยังเคยตั้งคำถามให้ได้ยินว่า ราคาแค่นี้คนเลี้ยงไก่เขาอยู่รอดได้ยังไง? ... คงต้องส่งคำถามถึงผู้มีอำนาจว่าแล้วใครจะรับผิดชอบชีวิตเกษตรกรคนเลี้ยงไก่?? การแก้ปัญหาไข่ไก่ที่ ดร.โกร่งว่าไว้คือ รัฐไม่ต้องทำอะไรเลยนั้นถูกต้องที่สุด ปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน ทุกอย่างจะสมดุลเอง การแทรกแซงกลไกตลาดของไข่ไก่ในระยะสั้นๆ เพื่อแก้ปัญหา Panic นั้นอาจมีเหตุผล แต่ในเมื่อไข่เข้าที่เข้าทางแล้ว ก็ไม่ควรสร้างปัญหาใหม่ให้ต้องแก้ไปแก้มาวนเวียนไม่รู้จบแบบนี้. โดย พีรชา พัฒนวิชาญ