ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ระบุว่า...
[27 เมษายน ครบรอบ 83 ปีการจากไปของ Antonio Gramsci] 27 เมษายน 1937 Antinio Gramsci ปรัชญาเมธีชาวอิตาลีเสียชีวิตในวัย 47 ปี ในปี 1928 เขาถูกเผด็จการฟาสซิสต์ของ Mussolini สั่งจำคุกเป็นเวลา 20 ปี 4 เดือน 5 วัน Miche Isgrò อัยการในคดีนี้ได้กล่าวไว้ว่า “เราต้องหยุดการทำงานของสมองก้อนนี้เป็นเวลา 20 ปี” แต่คุกของระบอบฟาสซิสต์ก็ทำได้แต่เพียงขังร่างกายของ Gramsci ไว้เท่านั้น สมองของ Gramsci ยังทำงานต่อเนื่อง เขาเขียนงานสมุดบันทึกจากคุก (Quaderni del carcere) รวม 33 เล่ม ต่อมา Tatiana Schucht พี่สะใภ้ของเขา ซึ่งเป็นผู้เก็บรักษาต้นฉบับไว้อย่างดี ได้นำมาตีพิมพ์เผยแพร่ นั่นทำให้ “สมอง” ของ Gramsci ที่พวกเผด็จการฟาสซิสต์จ้องแช่แข็งเอาไว้ กลายเป็นความคิดทรงพลังแห่งศตวรรษที่ 20 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความคิดเรื่อง Hegemony, Historical Bloc, Common sense, War of Position, Passive Revolution, Political Society/Civil Society, Organic Intellectuel, Subaltern ฯลฯ ความคิดของ Gramsci สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการต่อสู้ทางการเมืองในสังคมไทย โดยเฉพาะช่วงยามหัวต่อหัวเลี้ยวเช่นนี้ .... เพื่อเป็นการรำลึกถึง Gramsci ผมขอแนะนำงานในโลกภาษาไทยให้ผู้ที่สนใจได้อ่านเบื้องต้น ดังนี้ 1. วัชรพล พุทธรักษา, บทสำรวจความคิดทางการเมืองของอันโตนิโอ กรัมชี่, สำนักพิมพ์สมมติ, 2557. 2. วัชรพล พุทธรักษา, อันโตนิโอ กรัมชี่ กับการจัดวางความคิดทางการเมือง, สำนักพิมพ์สมมติ, 2561. 3. เจอโรม คาราเบล, ความขัดแย้งของการปฏิวัติ : อันโตนิโย กรัมชี่ กับปัญหาของปัญญาชน, แปลโดย สมบัติ พิศสะอาด, มูลนิธิโกมล คีมทอง, 2525. 4. สุรพงษ์ ชัยนาม, “อันโตนิโอ กรัมชี่ กับทฤษฎีการครองความเป็นใหญ่”, ปาจารยสาร, 2524. 5. จูเซ็ปเป้ ฟิออรี่, ชีวิตของอันโตนิโอ กรัมชี่, แปลโดย นฤมล ประทีป นครชัย, มูลนิธิโกมล คีมทอง, 2526. (รายการที่ 3 และ 4 ตีพิมพ์ใหม่เมื่อไม่นานมานี้ โดยสำนักพิมพ์ Text)