วันที่ 27 เมษายน2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจ พบว่า จังหวัดศรีสะเกษ มีจำนวนนักดื่มหน้าใหม่ลดลง จากร้อยละ 25.10 ในปี 2554 เหลือ ร้อยละ 12.10 ในปี 2560 ส่วนนักดื่มประจำในปี 2554 พบถึงร้อยละ 44.0 ใกล้เคียงกับปี 2560 พบร้อยละ 43.3 ซึ่งพบว่าในกลุ่มผู้ใหญ่จะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ก็ยังพบว่าอัตราการดื่มประจำยังมีสถิติที่สูงมากและมีแนวโน้มดื่มหนักมากขึ้น ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จังหวัดศรีสะเกษ ได้มีประกาศมาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด แต่ผลสำรวจได้พบนักดื่มหนัก ที่มีแนวโน้มมีอาการเนื่องจากการขาดสุรา (alcohol withdrawal syndrome) หรือเรียกว่า “ลงแดง” ซึ่งกลุ่มนี้ ต้องมีแนวทางปรับตัวรับมือในช่วงหักดิบกะทันหัน เนื่องจากอาจส่งผลต่อชีวิตได้ นายจันทร์ โต๊ะสิงห์ ผู้ประสานงานประชาคมงดเหล้าจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า จังหวัดศรีสะเกษ ได้ใช้นโยบายงานบุญประเพณีปลอดเหล้ามาตั้งแต่ปี 2553 โดยกำหนดให้งานศพ งานบุญประเพณีปลอดเหล้า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยมีชุมชนเข้าร่วมดำเนินการกระจายทั่วจังหวัดศรีสะเกษกว่า 20 ตำบล เป็นแบบอย่างเชิงรูปธรรมความสำเร็จได้ แต่จำนวนนักดื่มหนักสูงขึ้นมากและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นที่นิยม ยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนดื่มได้มากนัก ยังมีข้อจำกัดในการดำเนินการเพราะยังเป็นเรื่องที่ยากมาก ดังนั้นเพื่อป้องกันและเตรียมการช่วยเหลืออาการ “ลงแดง” ให้ทันเวลา จึงมีพื้นที่ดำเนินการที่เข้มข้น และเป็นต้นแบบ เช่น ต.โคกเพชร อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ มีการควบคุมคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และรวมไปถึงการช่วยให้นักดื่มในชุมชนลด ละ เลิก โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโคกเพชร (รพ.สต.โคกเพชร)โดยมีนางเพ็ญทิวา สารบุตร ผอ.รพ.สต.โคกเพชร คอยให้คำปรึกษาและช่วยเลิกเหล้าได้สำเร็จ โดยทาง อสม.เสริมพลัง ที่มีจิตอาสาและมีความรู้ความเข้าในการขับเคลื่อนสามารถป้องกันผลกระทบที่จะเกิดการอาการลงแดงของผู้ป่วยได้ นางเพ็ญทิวา สารบุตร ผอ.รพ.สต.โคกเพชร กล่าวว่า จากการสำรวจในพื้นที่ ต.โคกเพชร พบว่า มีกลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือกลุ่มที่ติดสุราค่อนข้างรุนแรง จำนวน 34 คน ในระยะของการเฝ้าระวัง ในช่วงที่ทางจังหวัดประกาศห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 น.ส.ดาวรุ่ง แซ่โค้ว กำนันตำบลโคกเพชร ทีม อสม. และทีมชมรมคนหัวใจเพชร ที่เป็นอดีตนักดื่มที่เลิกเหล้าได้สำเร็จจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงแนะวิธีการปฏิบัติตัวไม่ให้ลงแดงและต้องมีคนในครอบครัวให้กำลังใจ สำหรับการหักดิบ เลิกดื่มสุรากะทันหัน ผู้ที่ติดสุราหนักจะมีอาการลงแดง มีอาการใจสั่น มือสั่น เหงื่อออก หงุดหงิด นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ทานอาหารไม่ได้ เอะอะโวยวาย หรือบางรายอาจมีโรคประจำตัวร่วมด้วย ซึ่งเป็นอาการที่อาจเกิดอันตราย นายอนุชา พลทา อายุ 36 ปี อยู่บ้านเลขที่ 39 หมู่ที่ 1 ต.โคกเพชร อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ตนเป็นชาวเกษตรกร เริ่มดื่มแอลกอฮอล์ มาตั้งแต่ช่วงอายุ 15 ปี จะเป็นเหล้าขาว เหล้าสี และเบียร์ แต่ไม่สูบบุหรี่ ดื่มติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อถึงช่วงที่โรคโควิด-19ระบาด มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อ มีประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกนอกเคหะสถานในช่วงเวลา 22.00-04.00 น. ประกาศห้ามร้านค้าจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด ส่งผลทำให้ตนเริ่มมีอาการขาดเหล้า เริ่มจากมือไม้สั่น กระวนกระวาย สับสน หงุดหงิด มีภาวะช็อค กระทั่งมีอาการหลอน นานประมาณ 3-4 วัน ซึ่งรู้สึกทรมานมาก จึงได้แจ้งให้ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รพ.สต.โคกเพชร ทราบ และได้นำตนส่ง รพ.ขุขันธ์ ในเวลาต่อมา ซึ่งแพทย์ รพ.ขุขันธ์ ได้ทำการตรวจรักษาแล้ว แจ้งว่าเป็นอาการของการหยุดดื่มสุรากะทันหัน หรืออาการที่เรียกว่า “ลงแดง” แพทย์ได้แนะนำให้พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารให้มาก ๆ พยายามทานข้าว ดื่มน้ำ ดื่มนมเยอะๆ และนอนตั้งแต่หัวค่ำ เมื่อมีอาการอยากดื่มสุรา ก็จำเป็นต้องอด และต้มน้ำร้อนจิบ จิบไปเรื่อย ๆ ติดต่อกันสัก 2-3 วัน อาการอยากสุราจะเริ่มทุเลาดีขึ้น และได้ผลจริง หลังหยุดดื่มมาได้ระยะหนึ่งแล้ว มีความรู้สึกสบายตัว ไม่หงุดหงิด และไม่รู้สึกอยากดื่ม ตนคิดว่าถือเป็นโอกาสดีที่ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 หลายๆคนอาจใช้ช่วงวิกฤตินี้เป็นเป็นโอกาสในการเลิกเหล้าได้ถาวร สร้างความสุข สร้างภูมิต้านทานโรคได้ ไม่กลับไปดื่มอีก สิ่งสำคัญคือกำลังใจจากครอบครัวและญาติที่ต้องเข้าใจและช่วยเหลือให้ก้าวผ่านให้สำเร็จ ให้ได้ นส.เพียงฤทัย เกียรติชนนาวี / ศรีสะเกษ