“สมอ.”ขานรับนโยบายรัฐบาลช่วยเหลือเอสเอ็มอี ออกมาตรการตอบสนองตามที่ภาคเอกชนร้องขอ โดยเปิดให้ยื่นขอใบอนุญาต มอก.ทางออนไลน์ได้ทุกมาตรฐาน ทั้งหมดกว่า 2,200 ผลิตภัณฑ์ พร้อมยกเว้นการตรวจโรงงานจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสํานักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ได้ร่วมประชุมหารือกับภาคเอกชน เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และให้ทุกหน่วยงานรับข้อเสนอของภาคเอกชนไปดำเนินการ โดย สมอ. านรับนโยบายดังกล่าวโดยออกมาตรการที่ให้บริการได้ทันทีดังนี้1.มาตรการการขอใบอนุญาตผ่านระบบออนไลน์ โดย สมอ.ได้เปิดให้บริการยื่นขอใบอนุญาต มอก.ทางออนไลน์ผ่านระบบ e-License กับทุกมาตรฐาน ซึ่งผู้ประกอบการสามารถดําเนินการได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่ https://www.itisi.go.th ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยสามารถยื่นขอได้ทุกมาตรฐาน จํานวนทั้งสิ้นกว่า 2,284 มาตรฐาน 2.มาตรการยกเว้นการตรวจโรงงานประกอบด้วย -ออกใบอนุญาตโดยไม่ต้องตรวจโรงงาน แต่จะต้องตรวจสอบตัวอย่างสินค้า ทั้งนี้ได้ออกใบอนุญาตแบบเฉพาะครั้งนี้ไปแล้วจำนวน 266 ใบอนุญาต มูลค่ากว่า 543 ล้านบาท -ตรวจติดตามโดยไม่ต้องตรวจโรงงาน โดยให้ผู้รับใบอนุญาตรับรองตนเอง (Self declaration) ด้วยการส่งข้อมูลผลการตรวจคุณภาพ ผลทดสอบผลิตภัณฑ์และผลการสอบเทียบเครื่องมือ ผ่านระบบ e-Surveillance ของ สมอ.โดยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีผู้รับรองตนเองผ่านระบบดังกล่าวแล้วจำนวนกว่า 300 ราย -ออกใบรับรองระบบงานโดยไม่ออกไปตรวจสถานที่ แต่ใช้การตรวจประเมินทางไกล (Remote assessment) หรือการรับรองตนเอง (Self declaration)แทน รวมถึงการตรวจประเมินมาตรฐาน ISO/IEC 17025:2017 ซึ่งเป็นมาตรฐานห้องแล็ปที่กำลังจะมีการปรับเปลี่ยนเวอร์ชั่นในเดือนพ.ย.63 เพื่อมิให้เกิดความล่าช้าต่อผู้ประกอบการ ทั้งนี้สามารถดูรูปแบบการตรวจประเมินเพื่อขอรับใบรับรองความสามารถของห้องปฏิบัติการ หน่วยตรวจ และหน่วยรับรองได้ที่ www.facebook.com/tisiofficial ทั้งนี้นอกจาก 2 มาตรการที่ สมอ.ได้เปิดให้บริการแก่ผู้ประกอบการได้ทันทีแล้ว ก่อนหน้านี้ สมอ.ยังได้เสนอมาตรการชดเชยและเยียวยาผู้ประกอบการให้ ครม.เพื่อขอความเห็นชอบในการยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ พร้อมทั้ง เยียวยาผู้ประกอบการในเรื่องค่าตรวจสอบโรงงานและค่าตรวจสอบตัวอย่างผลิตภัณฑ์ รวมมูลค่ากว่า 200 ล้านบาทไปแล้ว ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการดังกล่าวข้างต้นจะสามารถช่วยเหลือ และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภายใต้สถานการณ์โควิด- 9 ให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง