โดย​ : นายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ ประธานสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา(20 เมษายน 2563) เกิดเหตุการณ์ช็อคโลก เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการค้าการลงทุน นั่นคือปรากฏการณ์ที่มีการซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้าในราคาที่ติดลบ และไม่ใช่ติดลบธรรมดา แต่ติดลบลงไปถึง 40.32 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เรื่องราวเป็นอย่างไร เดี๋ยวจะมาไล่เรียงเนื้อหากันดูครับ 1. เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ไหน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ตลาด NYMEX (The New York Mercantile Exchange)ที่ถือเป็นตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเป็นการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าของน้ำมันดิบ West Texas Intermediate (WTI) ที่ผู้ขายยอมขายขาดทุน เพียงเพราะว่าไม่มีใครอยากได้ เนื่องจากทุกคนต่างมีปัญหาที่จัดเก็บน้ำมัน คนขายจึงต้องจูงใจด้วยการขายในราคาติดลบเพื่อให้คนซื้อไปหาที่เก็บเอง 2. ทำไมต้องซื้อขายน้ำมันดิบกันล่วงหน้า ในการทำธุรกิจคนใช้น้ำมันก็อยากรู้ราคาน้ำมันล่วงหน้า เพื่อที่จะได้กำหนดราคาสินค้าได้ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม สายการบิน หรือสายเดินเรือ ขณะที่บริษัทผู้ขุดเจาะน้ำมันก็อยากรู้ราคาขายล่วงหน้า เพื่อที่จะกำหนดต้นทุนค่าใช้จ่าย เงินเดือนพนักงานได้ จึงเป็นจุดกำเนิดให้มีตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้ามานานนับ 100 ปีแล้ว ปัจจุบันมีการซื้อขายน้ำมันกันล่วงหน้าตั้งแต่ 1 เดือนถึง 10 ปีข้างหน้า เพื่อล็อคราคาน้ำมันที่ฝั่งผู้ซื้อและผู้ขายพอใจ ในขณะที่มีผู้ขุดน้ำมันขึ้นมาขายจริงๆและมีผู้ซื้อน้ำมันไปใช้จริงๆ ก็ยังมีนักเก็งกำไรทั้งในรูปบริษัทและบุคคลเข้ามาผสมโรงซื้อขายด้วย เพื่อทำกำไรทั้งๆที่ไม่ได้ตั้งใจที่จะขายน้ำมันหรือซื้อน้ำมันไปใช้จริงๆ 3. นักเก็งกำไรทำกำไรได้อย่างไร นักลงทุนประเภทเก็งกำไรสามารถทำกำไรทั้งในตลาดขาขึ้นและขาลง กล่าวคือ ถ้าเขาเก็งได้ว่าราคาน้ำมันจะสูงขึ้น เขาก็ทำการซื้อน้ำมันล่วงหน้าไว้ก่อน เมื่อเวลาผ่านไป หากราคาน้ำมันสูงขึ้นจริง เขาค่อยขายทำกำไรออกไป ขณะที่ถ้าเขาคาดการณ์ว่าเป็นตลาดขาลง เขาจะทำสัญญาขายน้ำมันล่วงหน้า(ทั้งที่เขาไม่ได้มีน้ำมันจริงๆ) และเมื่อถึงเวลา ราคาน้ำมันมันลงไปจริง เขาก็ทำการปิดสถานะ/ปิดสัญญาโดยการซื้อน้ำมันคืนในจำนวนที่เท่ากัน ส่วนต่างก็คือกำไรของเขา แต่ถ้าเขาคาดการณ์ผิดเช่น เขาขายน้ำมันไปล่วงหน้า พอใกล้วันครบสัญญา ปรากฎว่าราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นมาก ในเมื่อเขาไม่มีน้ำมันจริงๆที่จะส่งมอบ สิ่งที่ต้องทำคือรีบซื้อน้ำมันมาจำนวนที่เท่ากันเพื่อปิดสัญญานั้น และรับผลขาดทุนจากส่วนต่างของราคาน้ำมันไป 4. เกิดอะไรขึ้นในวันนั้น ตามปกติสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะมีกำหนดวันหมดอายุ (expiration date ) เพื่อเตรียมส่งมอบสินค้ากัน สำหรับคนที่ลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าเมื่อใกล้วันครบสัญญาต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 อย่างนี้กล่าวคือ หนึ่ง ปล่อยให้สัญญาครบกำหนดโดยไม่ทำอะไรเลย แล้วส่งมอบสินค้าหรือรับมอบสินค้าตามที่เราได้ทำสัญญาไว้ล่วงหน้า สอง ทำการปิดสถานะด้วยการขายหรือซื้อสินค้าคืนในจำนวนที่เท่ากันและรับผลกำไรหรือขาดทุนที่เกิดขึ้น สาม การเปลี่ยนสัญญาใหม่ (Rollover)ด้วยการปิดสัญญาเดิมที่กำลังจะหมดอายุ แล้วไปซื้อสัญญาตัวใหม่ที่มีอายุยาวกว่าตัวเดิม แน่นอนว่านักเก็งกำไรไม่มีความตั้งใจที่จะส่งมอบหรือรับมอบสินค้าอยู่แล้ว จึงมีคนกลุ่มหนึ่งที่เล็งว่า การที่ราคาน้ำมันลดลงจาก 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลลงมาเหลือ 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก็ถือว่าต่ำแล้ว คงไม่มีโอกาสลงไปกว่านี้ มีแต่โอกาสที่ราคาน้ำมันจะเชิดสูงขึ้น แต่ปรากฏว่าการใช้น้ำมันทั่วโลกลดลงไปมาก จากการที่ธุรกิจต่างๆถูกล็อคดาวน์ไปทั่วโลก ถึงขนาดที่มีน้ำมันล้นเกิน จนแทบจะไม่มีที่เก็บแล้ว พอถึงวันที่ 20 เมษายน ก่อนวันครบอายุ (expiration date ) ของสัญญาเดือนพฤษภาคม 1 วัน (วันครบอายุของสัญญาเดือนพฤษภาคม คือวันที่ 21 เมษายน เพื่อส่งมอบน้ำมันกันในเดือนพฤษภาคม) คนที่ถือสัญญาซื้อน้ำมันไว้โดยที่ไม่ถังเก็บ เริ่มอยู่ไม่สุข พยายามหาทางปิดสถานะด้วยการขายออกไป แต่กลับพบว่าแทบไม่มีใครตั้งคำสั่งซื้อไว้เลย มีแต่คนรอขายออกเกือบ 2,000 สัญญา เมื่อคนขายไม่มี ทางเดียวที่จะปิดสัญญาก็คือขายลดราคาถึงขนาดติดลบเพื่อจูงใจ คือจ่ายเงินให้คนซื้อช่วยเอาไปเก็บ เลยทำให้ราคาน้ำมันติดลบไปต่ำสุดที่ 40.32 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลและเมื่อตอนปิดตลาดได้ขยับขึ้นมาปิดที่ - 37.63 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 5. นักเก็งกำไรรายนี้ขาดทุนไปเท่าไร ถ้านักลงทุนรายนี้ทำสัญญาซื้อน้ำมันล่วงหน้าที่ราคา 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (โดยอาจซื้อก่อนเหตุการณ์แค่ 2-3 วัน) เนื่องจากเห็นว่าราคาน้ำมันลดลงมามากแล้ว น่าจะมีโอกาสปรับตัวขึ้น แต่เมื่อถึงวันก่อนครบสัญญา ปรากฏว่าไม่มีใครตั้งซื้อ จนเขาจำเป็นต้องขายในราคาติดลบถึง 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เท่ากับนักลงทุนคนนี้ขาดทุนถึง 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หาก 1 บาร์เรลเท่ากับ 159 ลิตร เท่ากับขาดทุนลิตรละ 0.38 ดอลลาร์หรือ 12 บาทต่อลิตร แต่ถ้านักลงทุนคนนี้โชคร้าย ไปซื้อตั้งแต่ก่อนวิกฤติโควิด-19 ที่ราคา 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อราคาน้ำมันลดลงมาที่ 20 ดอลลาร์ เขาก็ยังไม่ขาย จนในที่สุดจำใจต้องมาขายที่ราคาติดลบ 40 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรล เท่ากับคนนี้ขาดทุนถึง 90 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรลหรือ 18.40 บาทต่อลิตรทีเดียว ปกติ 1 สัญญา เท่ากับน้ำมัน 1,000 บาร์เรล ดังนั้น การขายในวันนั้นเพียง 1 สัญญา จึงทำให้นักลงทุนคนนี้ขาดทุนถึง 90,000 ดอลลาร์หรือ 2.9 ล้านบาททีเดียว (ถ้าซื้อที่ 50 ดอลลาร์และมาขายที่ -40 ดอลลาร์) 6. ทำไมในวันนั้นจึงไม่มีใครตั้งซื้อที่ราคาต่ำๆเลย ในภาวะปกติก่อนเกิดวิกฤติโรคโควิด-19 โลกของเรามีการใช้น้ำมันตกวันละ 90 ล้านบาร์เรล แต่เมื่อโรคโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก ทำให้มีการล็อคดาวน์ธุรกิจและให้คนอยู่กับบ้าน มีการปิดชายแดน สายการบินหยุดบิน การท่องเที่ยวหยุดชะงัก ทำให้การใช้น้ำมันลดลงไปถึง 30% หรือ 29 ล้านบาร์เรลต่อวัน(ตามคำแถลงของสำนักงานพลังงานสากล/IEA) ประกอบกับก่อนหน้านี้ มีสงครามราคาน้ำมันระหว่างประเทศซาอุดิอาระเบียและประเทศรัสเซีย ทำให้ต่างทุ่มขายน้ำมันในราคาถูก เมื่อราคาน้ำมันลดลงมาถึง 25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ใกล้เคียงกับตอนที่เกิดวิกฤตการณ์แฮมเบอเกอร์ ซึ่งน้ำมันเคยร่วงลงไปต่ำกว่า 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก่อนที่จะพุ่งสูงขึ้นไปถึงประมาณ 160 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังวิกฤตการณ์ครั้งนั้น ดังนั้น เมื่อนักลงทุนเห็นว่าราคาน้ำมันลงมาแถว 25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จึงรีบเข้ามาซื้อตุนเอาไว้ แต่ปรากฏว่าการใช้น้ำมันลดน้อยลงไปอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จึงมีน้ำมันเหลือเก็บทุกวัน จนถังเก็บน้ำมันที่เคยมีอยู่ ถูกใช้แทบทั้งหมด ทั้งบนบกและในทะเล ทำให้ผู้ซื้อไม่กล้าซื้อเพราะไม่มีที่เก็บ ส่วนถังเก็บที่เหลืออยู่บ้างก็ถูกเพิ่มราคาค่าเช่าเป็นสองเท่า จึงเป็นแรงบีบให้ผู้ขายต้องขายในราคาขาดทุน 7. แรงบีบกลับด้าน ในอดีตที่ผ่านมาผู้ขายน้ำมันล่วงหน้ามักจะเจอแรงบีบในวันใกล้ครบสัญญาเพราะต้องวิ่งหาน้ำมันจริงไปส่งมอบ ทำให้จำเป็นต้องซื้อน้ำมันราคาสูงไปปิดสถานะ แต่ในครั้งนี้เป็นแรงบีบกลับด้านซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะคนที่ซื้อล่วงหน้ากลับมีปัญหาที่เก็บน้ำมัน เมื่อหาถังเก็บไม่ได้ ก็จำเป็นต้องถูกบีบขายในราคาติดลบออกไป 8. เป็นการทุบราคาน้ำมันรึเปล่า มีคนตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์นี้อาจเป็นการทุบราคาน้ำมันลง โดยผู้ลงมือสังเกตว่ามีแรงซื้อที่เบาบางเพราะมีปัญหาเรื่องการจัดเก็บ จึงใช้สัญญาเพียงไม่มากในการทุบราคาลงมา ถามว่าใครที่จะได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ติดลบนี้ หนึ่ง คือกองทุนรวมที่ถือเงินสดไว้รอช้อนซื้อในราคาต่ำ เพราะการที่สัญญาเดือนพฤษภาคมลดลงมาจนติดลบ ทำให้สัญญาของเดือนอื่นๆลดลงกันถ้วนหน้า ถึงแม้จะไม่ถึงขั้นติดลบ โดยกองทุนเหล่านี้มองว่าตอนนี้กำลังมีการคิดค้นวัคซีนและอยู่ในขั้นทดลอง เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว นี่จึงเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่จะเริ่มซื้อสัญญาน้ำมันเข้ามา สอง คือกลุ่มเฮดจ์ฟันที่อาจมีการขายช็อร์ตหุ้นบริษัทน้ำมันหรือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมน้ำมันออกมาก่อนหน้า เมื่อถึงเวลาก็เข้าไปซื้อคืน และสาม คือประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่หวังทุบราคา เร่งให้บริษัทน้ำมันรายย่อยล้มหายตายจาก จนเหลือแต่ผู้ผูกขาดอยู่ไม่กี่บริษัท ซึ่งเรื่องนี้ทางสหรัฐได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้แล้ว เนื่องจากว่าการซื้อขายน้ำมันในราคาที่ติดลบ ทำให้ภาพลักษณ์ของตลาดซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้าเสียหาย ขาดความน่าเชื่อถือ 9. ทำไมตลาดซื้อขายน้ำมัน Brent ถึงไม่มีปัญหาเหมือน Nymex เนื่องจากการซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า Brent นั้นสามารถปิดสัญญาได้ด้วยการจ่ายชดเชยเป็นเงินสด จึงไม่มีปัญหาเรื่องสถานที่จัดเก็บน้ำมัน ขณะที่ตลาด Nymex ต้องส่งมอบเป็นน้ำมันดิบตามสัญญาเท่านั้น และต้องไปส่งและรับมอบที่เมือง Cushing, Oklahoma ที่ถังน้ำมันแถวนั้นล้วนแต่เต็มหมดแล้ว หากจะขนส่งไปจัดเก็บที่อื่นก็มีความยุ่งยากมากกว่า นักลงทุนจึงตัดสินใจยอมขาดทุนไป 10. ทำไมบริษัทขุดเจาะน้ำมันจึงไม่ร่วมใจการลดการผลิตเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคา ตอนนี้บริษัทน้ำมันต่างมีปัญหาสภาพคล่อง หากหยุดผลิตน้ำมันเมื่อไหร่อาจจะไม่มีเงินหมุนเวียนพอที่จะจ่ายค่าจ้างให้พนักงาน อีก ทั้งการปิดบ่อน้ำมันก็ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ เนื่องจากท่อขุดน้ำมันเมื่อขุดน้ำมันได้แล้วต้องปล่อยให้น้ำมันไหลอิสระ หากไปปิดกั้นมันอาจจะทำให้บ่อน้ำมันเสียหายได้ บริษัทเหล่านี้จึงยังคงผลิตน้ำมันเหมือนเดิม มีการคาดการณ์กันว่าหากน้ำมันยังคงอยู่ที่ราคา 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะมีบริษัทน้ำมันของอเมริกาล้มละลายถึง 533 บริษัททีเดียว 11. ทำไมประเทศผู้ผลิตน้ำมันจึงไม่เจรจากันเพื่อลดการผลิต ตอนนี้ประเทศที่เดือดร้อนที่สุดน่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา เพราะมีต้นทุนการผลิตสูงที่สุดคือราว 40-50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาที่ซื้อขายกันประมาณ 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลนี้ จึงถือว่าขาดทุน ประธานาธิบดีโดนัล ทรั้มป์จึงได้เชิญประเทศซาอุดิอาระเบียและรัสเซียมาเจรจา จนมีข้อตกลงกันเมื่อเดือนที่แล้วว่าในวันที่ 8 พฤษภาคมนี้จะลดการผลิตน้ำมันให้ได้วันละ 9.7 ล้านบาร์เรล แต่ผู้เชี่ยวชาญก็บอกยังลดน้อยเกินไป น้ำมันยังคงล้นตลาด ประเทศซาอุดิอาระเบียซึ่งมีต้นทุนในการผลิตน้ำมันต่ำสุดไม่ได้เดือดร้อน เพราะเขาคาดหวังว่าการที่น้ำมันอยู่ในราคาต่ำสักระยะหนึ่ง จะทำให้บริษัทน้ำมันจำนวนมากล้มละลายไป เหลือผู้ผลิตรายใหญ่อยู่ไม่กี่ราย แต่สงครามครั้งนี้ไม่ควรใช้เวลายืดเยื้อ เพราะซาอุดิอาระเบียก็ต้องการนำรายได้จากน้ำมันมาจุนเจืองบประมาณของประเทศเหมือนกัน 12. เหตุการณ์จะกลับมาปกติได้เมื่อไร การแก้ปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำ ต้องทำให้กิจกรรมของแต่ละประเทศกลับมาดำเนินการได้อย่างปกติ โรงงานเปิดทำการและบุคคลออกมาใช้รถอีกครั้ง นั่นจึงทำให้การบริโภคน้ำมันกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ประสงค์และอุปทานของน้ำมันดิบจึงจะสมดุลกัน 13. บุคคลภายนอกใครเป็นผู้ได้ผู้เสียจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ผู้ที่ได้รับประโยชน์แน่นอนคือ ผู้ใช้น้ำมันไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม บริษัทเดินเรือหรือประชาชนผู้ใช้รถทั่วไป แต่ที่เราคาดไม่ถึงคือ บริษัทถังน้ำมันและท่อส่งน้ำมันซึ่งได้รับค่าจัดเก็บเพิ่มขึ้นถึงหนึ่งเท่าตัว นอกจากนั้นบริษัทเดินเรือประเภทรับขนส่งน้ำมันก็ยังถูกเช่าเพื่อใช้เป็นที่จัดเก็บน้ำมันในทะเลอีกด้วย ส่วนผู้เสียหายก็ต้องเป็นบริษัทน้ำมัน ทั้งผู้ถือหุ้นและพนักงาน รวมถึงนักลงทุนรายย่อยที่ลงทุนในกองทุนรวมน้ำมัน 14. เราควรลงทุนในกองทุนรวมน้ำมันแล้วหรือยัง กองทุนรวมน้ำมันของไทย มักไปลงทุนต่อในกองทุนรวมน้ำมันต่างชาติ ซึ่งกองทุนใหญ่ๆเหล่านี้มักใช้วิธีซื้อขายน้ำมันในตลาดล่วงหน้า โดยพยายามให้ผลตอบแทนล้อไปตามราคาน้ำมัน ในเดือนที่ผ่านมามีบางกองทุน เช่น USO (United States Oil Fund) มีเงินไหลเข้ามาลงทุนถึง 1.6 พันล้านดอลลาร์ แต่เนื่องจากภาวะที่น้ำมันล้นโลก จนทำให้ราคาน้ำมันติดลบ(ในบางวัน) ส่งผลให้กองทุนนี้ติดลบตั้งแต่ต้นปีมากถึง 80% แถมยังมีผู้เชี่ยวชาญบอกว่า โอกาสที่ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าในตลาดโลกจะลงไปติดลบอีกครั้งยังมีอยู่ ตราบเท่าที่การบริโภคน้ำมันยังไม่กระเตื้องขึ้นและที่จัดเก็บไม่เพียงพอ จนทาง USO เองก็เริ่มกังวล จนต้องปิดรับเงินลงทุนใหม่และเริ่มกระจายเงินลงทุนไปในพลังงานทางเลือกอื่นเพื่อกระจายความเสี่ยง เนื่องจากตอนนี้มีเงินไหลเข้ามามาก แต่ตลาดกลับมีผู้เข้ามาซื้อขายเบาบาง ทำให้ยากต่อการซื้อขายสัญญาล่วงหน้า เนื่องจากไม่มีสภาพคล่อง แต่ถ้าเราคิดว่าจะลงทุนในระยะยาว ก็เป็นไปได้ว่า วันหนึ่งผู้คนต้องกลับมาใช้ชีวิตปกติ เมื่อการบริโภคน้ำมันกลับมาเหมือนเดิม ราคาน้ำมันก็จะเพิ่มสูงขึ้นมาเอง (ถ้ากองทุนนี้ไม่ล้มหายตายจากไปเสียก่อน เนื่องทุกวันนี้ กองทุนขาดทุนทุกเดือน จากการปิดสัญญาที่ใกล้หมดอายุในราคาถูก แล้วไปซื้อสัญญาใหม่ที่แพงกว่าเดิมมาก) 15. ราคาน้ำมันดิบติดลบ ผู้บริโภคอย่างเราจะมีสิทธิ์ได้ใช้น้ำมันฟรีหรือไม่ คำตอบคือไม่แน่นอน เนื่องจากน้ำมันสำเร็จรูปมีต้นทุนในเรื่องของค่าการกลั่น การขนส่ง การตลาดและภาษีที่ต้องจ่ายให้รัฐบาล อีกทั้งราคาน้ำมันดิบที่ติดลบนั้นเป็นเพียงช่วงสั้นๆ ล่าสุดสัญญาซื้อขายของเดือนมิถุนายนได้กลับมาที่ 18 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้ว ในภาวะที่การลงทุนได้ถูกพัฒนาให้พิสดารขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะซื้อขายล่วงหน้าได้ มีอัตราทด(leverage) ที่สูงขึ้นจากการใช้วงเงินมาร์จิ้น (เงินค้ำประกันบางส่วนในการลงทุนโดยไม่ต้องลงเงินทั้งหมด) หากคาดการณ์ทิศทางตลาดได้ถูกต้อง ก็สามารถทำกำไรได้มหาศาล หากคาดการณ์ผิดพลาดก็ขาดทุนย่อยยับ ดังที่ บริษัทสายการบินเวอร์จิ้นของออสเตรเลีย(Virgin Australia)ต้องล้มละลายไปแบบไม่คาดฝันจากโรคระบาดโควิด-19 และมีข่าวว่า บริษัทค้าน้ำมันยักษ์ใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ (Hin Leong Trading) ซึ่งตั้งมากกว่า 50 ปี มีแนวโน้มว่าจะล้มละลายไปเช่นกัน มันจึงเป็นสัจธรรมว่าการลงทุนใดๆล้วนมีความเสี่ยงที่คิดไม่ถึงเสมอ การวางเดิมพันสูงในสิ่งที่เราคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ถ้าบังเอิญมันเกิดขึ้น ก็หมายถึงการล้มละลายทีเดียว “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน” ท่องให้ขึ้นใจครับ ข้อมูลอ้างอิง https://thehill.com/policy/energy-environment/493984-why-oil-prices-fell... https://www.aljazeera.com/ajimpact/oil-prices-crash-affect-2004211346507... https://www.investopedia.com/terms/f/futurescontract.asp https://www.investopedia.com/terms/l/lasttradingday.asp https://www.reuters.com/article/us-global-oil-price-explainer/why-brent-... http://www.futurestradingpedia.com/futures_expiration.htm https://asiatimes.com/2020/04/singapores-oil-traders-at-risk-of-collapse/ https://www.aljazeera.com/ajimpact/virgin-australia-enters-bankruptcy-pr...