ภาคเหนือฝุ่นลด แต่ 3 จุดยังโซนส้มเริ่มกระทบสุขภาพ สูงสุดยังเป็นที่เชียงใหม่ ตามด้วยแม่ฮ่องสอน และเชียงราย ขณะไฟป่าโซนแดง เชียงราย ยังต้องผจญไฟ ด้านตัวแทนชุมชนกะเหรี่ยง ถามใจรัฐ จิตอาสาดับไฟป่าที่สูญไปอีก 1 พอจะมีความหมายบ้างไหม นอกจากจะไร้ตัวตนถูกจำกัดสิทธิ ยังถูกมองเป็นผู้ร้ายอันตรายต่อป่าไม่จบไม่สิ้น กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศ พื้นที่ภาคเหนือ วันที่ 24 เม.ย.63 เวลา 07.00 น. คุณภาพอ ากาศอยู่ในระดับดีมากถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ตรวจพบค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ระหว่าง 20-76 ไมโครกรัมฯ โดยยังมี 3 พื้นที่ที่ค่าฝุ่นยังเกินเกณฑ์อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (โซนสีส้ม) สูงสุดยังคงอยู่ที่ ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ 76 ไมโครกรัมฯ ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน, ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย WWW.IQAIR.COM ซึ่งรายงานคุณภาพอากาศและจัดอันดับเมืองมลพิษโดยรายงานแบบเรียลไทม์ วันที่ 24 เม.ย.63 เวลา 08.00 น. เชียงใหม่อยู่อันดับ 6 โลก ค่าฝุ่นอยู่ที่ 117 US AQI ขณะที่สถานการณ์ไฟป่ายังคงพบมีการลุกไหม้ในบางพื้นที่ ทั้งนี้ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ ศูนย์สนันสนุนชุมชนสู้ไฟป่า ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ,ศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และ โพควาโปรดั๊กชั่น ได้รายงานสถานการณ์ไฟป่า ในพื้นที่เครือข่าย 34 ชุมชน ณ วันที่ 23 เม.ย.63 เวลา 12.00 น.โดยแยกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ยังเผชิญกับไฟป่า (สีแดง) ได้แก่ บ้านห้วยหินลาดใน-นอก-ผาเยือง ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย , บ้านแม่ปูนน้อย ห้วยไร่ ห้วยงู ต.สันสลี อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่สามารถคุมไฟป่าได้ (สีน้ำเงิน) มี 6 พื้นที่ ในจ.ลำปาง ลำพูน น่าน กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่ยังมีการเฝ้าระวัง (สีเขียว) มี 26 พื้นที่ ในจ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง น่าน ลำพูน ตาก แม่ฮ่องสอน ด้าน พฤ โอโดเชา ตัวแทนชุมชนกะเหรี่ยงบ้านป่าคา อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ “จิตอาสาดับไฟถึงตายเพิ่มอีกคน พอจะมีความหมายอะไรต่อ ภาครัฐคนไทยเราบ้างไหม แลัวควรให้อะไรเขา ถามคนเป็น เมื่อไหร่รัฐจะยอมรับสิทธิชาวบ้าน เพราะ การยอมรับสิทธิชาวบ้านนั้นเพิ่ม ประสิทธิภาพ ในการขอความช่วยเหลือ หรือมีสิทธิ์ได้รับการสนับสนุน การจัดการทรัพยากรและความปลอดภัยให้กับชุมชนที่อยู่ห่างไกลที่ต้องต้องดับไฟ เพิ่มขึ้นแน่นอน ชาวบ้านและชุมชนกะเหรี่ยงที่ตั้งอยู่ในเขตป่า แม้ว่ารัฐรับรู้มาตลอดว่าชุมชนเหล่านี้อยู่กันมาเนิ่นนาน และอยู่มาก่อนประกาศเขตป่าต่างๆทั้งหลาย แต่รัฐไม่เคยมีกฎหมายออกมายอมรับสิทที่ทำกินที่หาอยู่หากินกับป่าเลย มีแต่จะกีดกันโดยออกกฎหมายมาทับถมกดทับสิทธิชุมชนเหล่านี้จนแก้แทบไม่ได้ แม้กระนั้นก็ตามชาวบ้านเราเหล่านี้ก็ยังรักถิ่นฐานบ้านเกิดเสมือนชีวิต และระลึกบุญคุณของธรรมชาติเสมอ จากการปกป้องธรรมชาติวิถีชุมชนอย่างจริงจัง ทำให้ชาวบ้านต้องเสียชีวิตมาแล้วหลายชีวิต และทิ้งให้คนข้างหลังไว้เศร้าเสียใจรับภาระต่อไป อย่างประเมินค่าสูญเสียไม่ได้ แต่สายตารัฐก็ยังเมินทำเป็นมองไม่เห็น แถมซ้ำยังจำกัดสิทธิและมองวิถีของชาวบ้านกะเหรี่ยงเหล่านี้เป็นจำเลยผู้ร้ายอันตรายต่อป่าธรรมชาติตลอดมา...ชาวบ้านต้องพึ่งตัวเองในการสู้กับปัญหาต่างภายใต้ข้อจำกัดที่กดทับนี้มายาวนาน แม้แต่เรื่องไฟป่าก็เช่นกัน การมีตัวตน ของชาวบ้านกับการที่ชาวบ้านปกป้องผืนป่าด้วยชีวิต เราจะยกย่องเขาสักหน่อยไม่ได้เชียวหรือเขามีค่าชีวิตต่ำกว่าตรงไหน...”