เสนอตั้งกลไกพิเศษดูแลผู้ใช้แรงงาน คสรท.เผยลูกจ้างได้รับผลกระทบแล้ว 8.8 แสนคน ผู้นำแรงงานจี้รัฐใช้หนี้ประกันสังคม 9.5 หมื่นล้าน เผยนายจ้างแห่เลี่ยงกฎหมายแรงงานอ้างเหตุสุดวิสัย-โยนภาระให้รัฐ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2563 ที่กระทรวงแรงงาน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) นำโดยนายชาลี ลอยสูง รองประธานคสรท. และนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อขอให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อโรคไวรัสโคโรน่า(โควิด-19) นายชาลี กล่าวว่า คสรท.และ สรส.ได้เปิดรับเรื่องราวร้องทุกข์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 และได้ทำการสรุปผลสำรวจรับเรื่องร้องทุกข์จากศูนย์พื้นที่ 14 แห่ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน จนถึงวันที่ 22 เมษายน 2563 โดยมีแรงงานที่ได้รับผลกระทบจำนวน 880,212 คน สาเหตุปัญหาหลักการร้องทุกข์เกิดจากประกาศใช้มาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ของนายจ้างทุกๆอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ลูกจ้างหลายแห่งถูกนายจ้างเลิกจ้าง บอกเลิกสัญญาจ้างงาน ให้คนงานบางส่วนหยุดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้าง หยุดการผลิตชั่วคราว รวมทั้งนายจ้างปิดกิจการไม่จ่ายค่าจ้าง นายสาวิทย์กล่าวว่า หลังจากตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ มีผู้ใช้แรงงานจำนวนมากร้องเรียน ซึ่งโดยสถานการณ์ปกติก็มีปัญหามากอยู่แล้ว แต่ยามนี้สถานการณ์ไม่ปกติยิ่งมีปัญหามาก ลำพังกลไกของรัฐเพียงลำพังอาจแก้ไขปัญหาได้ไม่เพียงพอ เพราะปัญหาการเลิกจ้างทุกอย่างต่างอ้างเหตุสุดวิสัยในสถานการณ์โควิด โดยนายจ้างขอยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าจ้างตามมาตรา 75 ท้ายสุดคนงานต้องพึ่งกองทุนประกันสังคม ที่สำคัญอุตสาหกรรมการบินหยุดอย่างสิ้นเชิง พนักงานได้มาร้องทุกข์เพราะยังไม่มีความแน่นอนว่าถูกเลิกจ้างหรือไม่ นายสาวิทย์กล่าวว่า ปัญหาลักษณะนี้จะเกิดขึ้นอีกมากมาย และคาดว่าคงไม่จบในเวลาอันใกล้ใน 2-3 เดือน แต่อาจยืดเยื้อนานนับปี ท้ายที่สุดคนจะแห่มาที่กระทรวงแรงงาน ดังนั้นจึงควรสร้างกลไกพิเศษขึ้นมาโดยเอาความยุติธรรมเป็นตัวตั้ง หากนายจ้างประสบปัญหาจริงจากไวรัสโควิดก็ช่วยเหลือกันไป แต่หากนายจ้างยังมีทุนหรือเงินเยียวยาช่วยเหลือลูกจ้างได้ก็ควรช่วยกันเพื่อลดภาระรัฐบาล ไม่ใช่โยนภาระให้รัฐบาลหรือประกันสังคมทั้งหมดซึ่งไม่ยุติธรรม เพราะในยามที่นายจ้างมีกำไรเกิดขึ้น ครั้งนี้เมื่อเกิดวิกฤต นายจ้างควรช่วยเหลือให้ลูกจ้างได้มีงานทำต่อไป “ลำพังรัฐคงช่วยได้ไม่เต็มที่ มาตรการช่วยเหลือ 5 พันบาท คงช่วยเหลือได้ไม่หมด เราได้นำข้อเสนอมาให้กระทรวงแรงงานเพื่อแสดงความตั้งใจว่า อยากช่วยเหลือกระทรวงแรงงานเพื่อให้มีการตั้งกลไกพิเศษขึ้นมาดูแล ซึ่งเราพร้อมเข้าไปช่วยเป็นหนึ่งในกลไกและอยากให้กระทรวงแรงงานเร่งดำเนินการ มิฉะนั้นกว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้”นายสาวิทย์ กล่าว ทั้งนี้ในเอกสารที่ คสรท.นำเสนอให้ผู้บริหารกระทรวงแรงงานนั้น ได้สรุปผลสำรวจจำนวนแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด จำนวน 880,212 คน ซึ่งระบุถึงแรงานที่ได้รับผลกระทบจากแหล่งต่างๆ เช่น พื้นที่อมตะ จำนวน 130,000 คน , พื้นที่บ่อวิน ระยอง 55,000 ,ธุรกิจการบิน80,000 คน ,บริการท่องเที่ยว การโรงแรม 200,000 คน “การประกาศกระทรวงเรื่องโรคโควิด-19 เป็นเหตุสดวิสัย ทำให้นายจ้างหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าจ้างตามมาตรา 75 ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 และให้ลูกจ้างไปใช้ประโยชน์กรณีว่างงานจากประกันสังคมแทน”ในเอกสารระบุ นอกจากนี้คสรท.ยังได้จัดทำข้อเสนอ จำนวน 12 ข้อ อาทิ รัฐต้องนำเงินสมทบค้างจ่าย 95,989 ล้านบาทคืนประกันสังคม ,ห้ามนำเงินกองทุนชราภาพจ่ายชดเชยแทนกองทุนว่างงาน กรณีกองทุนว่างงานหมดลงและรัฐต้องจ่ายเงินอุดหนุนตาม มาตรา 24 ,รัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างละเมิดสิทธิของคนงาน จ่ายเงินไม่ครบ เลิกจ้างไม่เป็นธรรม จากผลกระทบการระบาดของไวรัสโควิด-19 , ต้องช่วยเหลือค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา 50% ในระยะเวลา 6 เดือน เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัว ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19