นายภัทร เหมสุข นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Pat Hemasuk ระบุว่า.. ผมเตือนก่อนอ่านว่าวันนี้ผมเขียนยาวมาก วาสนาและเภทภัยนั้นเกิดขึ้นพร้อมกัน คำนี้เป็นภาษิตจีนที่คนจีนจะคุ้นหู บรรทัดฐานใหม่ (New Normal) ของโลกและของประเทศไทยจะมาเร็วกว่าที่คิด ผมเองนั้นก็เหมือนคนทั้งโลกที่เมื่อตอนขึ้นปีใหม่ไม่เคยคิดว่าอีกสามเดือนโลกทั้งใบจะมีสิ่งที่เกิดขึ้นแบบในวันนี้ คนส่วนมากของโลกคิดมาตั้งแต่ยุค 50's แล้วว่าถ้าโลกจะเปลี่ยนก็คงเป็นเพราะสงคราม นักเขียนหลายคนก็คิดถึงโลกที่เปลี่ยนไปในอนาคตจากซากสงครามคล้ายกับแนวของ The Terminator หรือไม่ก็ Mad Max แต่ในเวลานี่มันไม่ใช่เลย ทุกอย่างอยู่ครบ สังคมอยู่ครบ แต่เทคโนโลยีทุกอย่างในโลกยังอยู่ครบ แต่ทุกสิ่งที่มียังสู้กับไวรัสที่มาใหม่ไม่ได้ เมื่อหลายปีก่อนผมเคยบอกมิตรสหายและศิษย์ที่ใกล้ชิดไว้ว่าภายในเจ็ดปีนี้ เราอาจจะย้อนกลับไปมองดูโลกข้างหลังแล้วคิดว่าเราเดินทางมาถึงจุดนี้วันนี้ได้อย่างไร วันนี้คือเวลาเพิ่งผ่านไปเกือบห้าปีนับจากตอนที่ผมพูด ยังเหลือเวลาเปลี่ยนโลกและประเทศไทยอีกสองปีกว่า IMF ได้ประมาณการณ์เอาไว้ว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัว -3% ของสหรัฐนั้นคาดว่า -5.9% ในกลุ่ม G7 นั้นคงต้องลงไประดับติดลบ 5-7% บางประเทศที่เจอโรคระบาดเอาหนักและต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างอิตาลีนั้นลงไป -10% ถือว่าทั้งกลุ่มติดลบลงลึกครั้งแรกนับตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนไทยเรานั้นคาดว่าติดลบ 6.7% ความเป็นดาวรุ่งของ Emerging Market หรือเขตเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ที่ทำให้เงินบาทแข็งจนเป็นสวรรค์ในการพักเงินของตลาดทั้งโลกนั้นคงต้องเป็นอดีตที่เก็บเอาไว้เล่าให้ลูกหลานฟัง ส่วนจีนนั้นจะชะลอตัวลงในระดับ 1.2% ที่ยังติดค่าบวกอยู่ ส่วนอินเดียคาดว่า GDP ก็ยังไม่ติดค่าลบแต่ผมจำตัวเลขแน่นอนไม่ได้แล้ว น่าจะ 1.9 เฉี่ยวสอง จากน้ำหนักที่ถ่วงดุลกันทำให้กลุ่ม EM ของเอเซียนั้นยังเป็นค่าบวกอยู่ 1% ถ้าอ่านบทความ The Great Lockdown ที่เขียนโดย Gita Gopinath แล้วจะเข้าใจในภาพที่ผมเล่าให้ฟัง สาวแขกคนนี้เธอเก่งมากครับ ผมตามสิ่งที่เธอเขียนมาสักพักแล้ว แนวของเธอไม่มั่วแบบบางคน จิตา โกปินาธ เธอเป็น Chief Economist of the International Monetary Fund หรือหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF ทำงานเด่นจนโดนดันขึ้นมานั่งเก้าอี้นี้เมื่อปีที่แล้ว ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องภาษาอังกฤษและศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์ผมแนะนำให้อ่านครับ เธอมอง Emerging Asia ขาดกว่าหลายคน มุมมองของสลิงช็อตทางเศรษฐกิจหลังจากจบวิกฤติการระบาดของโรคนั้นมีการคาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตของ GDP ของโลกในระดับ 5.8% ขึ้นไป และหลายประเทศที่ติดลบในปี 2020 จะรีบาวด์ขึ้นไปในปี 2021 โดยมีข้อแม้ว่าถ้าการระบาดลดลงในช่วงกลางปีนี้ และมีการผลิตวัคซีนสำเร็จในปีหน้า ผมมองว่าแนวทางของโลกในวันพรุ่งนี้มีสองแนวทาง แนวทางแรกในมุมมองของผม บนพื้นฐานของสมมุติฐานถ้าวัคซีนมาแน่นอนในกลางปีหน้า แล้วโลกยังเดินหน้าต่อไปได้ แต่สังคมโลกไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว สังคมของโลกจะโดนปรับเปลี่ยนใหม่หมด New Normal ของโลกใบนี้จะกระทบทั้ง สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง คนทั้งโลกจะปรับตัวคุ้นเคยกับการอยู่กับตัวเองและครอบครัวมากขึ้นจากการเอาตัวรอดในช่วงล็อกดาวน์ ส่วนคนที่ไม่รอดจากเศรษฐกิจจะปรับตัวเองไปทำงานที่ยังเหลืออยู่และงานที่เติบโตขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของโลก เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในช่วงปฎิวัติอุตสาหกรรมที่แรงงานจะโดนดึงตัวจากภาคเกษตรเข้ามาสู่ภาคอุตสาหกรรมโดยไม่ต้องสนใจความรู้หรือความชำนาญก่อนหน้านั้น ทุกอย่างเรียนรู้กันใหม่ทั้งหมดพร้อมกับคนทั้งโลกใบใหม่ วิธีการใช้ชีวิตและธุรกิจจะเริ่มใหม่อีกครั้งแต่ไม่ใช่ทางเดิม คนในภาคธุรกิจบริการที่ตกงานจะโดนดึงไปทำงานอย่างอื่น ซึ่งในภาคของการขนส่งสินค้าจากผู้ผลิตตรงไปยังผู้บริโภคยังขาดคนอีกมาก และจะกลายเป็นอุตสาหกรรมใหญ่แบบใหม่ เพราะพ่อค้าคนกลางจะไม่จำเป็นอีกต่อไป มีแต่เพียงบริการศูนย์กระจายสินค้าก็พอแล้ว การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) จะเปลี่ยนธุรกิจไปทั้งหมด อาจจะหมดยุคการมีลูกค้าเดินหน้าร้านไปแล้วก็ได้ ทุกอย่างอยู่บนโลกของการค้าดิจิตัล (Digital Commerce) เต็มรูปแบบรวมถึงประเทศไทยด้วยที่เรื่องนี้ต้องมาจริงๆ และมาทุกภาคส่วน เพราะลูกค้าเดินนำไปก่อนแล้ว ผู้ค้าก็ต้องโดนบังคับให้เดินตามไปด้วย ที่เคยพูดว่าประเทศไทย 4.0 มาหลายปีนั้นอาจจะดูน้อยเกินไปและเก่าเกินไปสำหรับปีนี้เสียด้วยซ้ำ ภาพของร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าที่คนนั่งเต็มร้านจนมีบัตรคิวอาจจะไม่ใช่แบบนั้นอีกแล้วเพราะพฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนไป จะบอกว่าความเคยชินในช่วงหนึ่งปีนั้นเปลี่ยนแปลงทุกอย่างของทุกคนบนโลกก็ว่าได้ ภาคอุตสาหกรรมนั้นยังคงมีอยู่เพราะการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคนั้นยังหยุดไม่ได้ ภาคเกษตรกรรมก็ยังคงเดิมเพราะคนต้องกินอาหาร แต่ภาคบริการจะเปลี่ยนไปมาก การเดินทางจะน้อยลงเพราะธุรกิจเริ่มเรียรู้ว่าการสุมหัวทำงานในออฟฟิตไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกสิ่ง งานยังคงเดินไปได้เพราะชีวิตช่วง Work From Home นั้นจะสอนวิธีใหม่ของการดำเนินธุรกิจแบบองค์กรใหญ่ และการท่องเที่ยวในโลกกว้างนั้นคงอีกนานกว่าคนจะสบายใจพอที่จะเดินทางแบบนั่งเบียดกันในเคบินชั้นประหยัดไปไหนๆ ครึ่งโลกแบบเดิมอีกครั้ง รวมถึงการหลีกเลี่ยงที่จะเดินทางแบบที่ต้องยืนเบียดกันในระบบขนส่งสาธารณะที่การเดินทางประจำวัน ซึ่งอาจจะเหลือเพียงสองสามวันครั้งหรือสัปดาห์ละครั้งที่จะต้องเดินทางแบบนั้น ซึ่งแน่นอนว่าจะเกิดการเว้นระยะห่างทางสังคมขึ้นมาเองจากความเคยชินแบบใหม่ ถ้าจะมองในมหภาคนั้น ประเทศต่างๆ จะพึ่งพาตัวเองมากขึ้นจากที่เคยลำบากมาตลอดหนึ่งปีกว่า คำว่าโลกาภิวัฒน์ (Globalization) จะกลายเป็นสิ่งที่ใครพูดออกมาแล้วเชยตกยุคไปมาก เพราะเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตัวเองภายในประเทศนั้นจะถูกมองว่ายั่งยืนกว่า สินค้าในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมจะถูกผลิตภายในประเทศมากขึ้น ยกเว้นแต่ประเทศที่ผลิตด้วยตัวเองไม่ได้ก็เริ่มหาทางที่จะแนวทางที่จะรับประกันว่าประเทศของตัวเองจะไม่ลำบากขาดแคลนอีกต่อไป ลองมองภาพของสิงคโปร์ที่มาแย่งไข่จากตลาดบ้านเราเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา เพราะมาเลเซียลดปริมาณการส่งไข่ไปสิงคโปร์ ดูแล้วจะเห็นภาพที่ผมกำลังพูดให้ฟังถึงการที่ทุกชาติต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด ตัวอย่างเช่นประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างสวิสเซอร์แลนด์นั้นอย่าคิดว่าจะสบายในการพึ่งพาตัวเองนะครับ เจอกับการแก้ปัญหาหนักพอสมควรทั้งเรื่องโลจิสติกส์ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และพื้นที่ที่จำกัดในการผลิตอาหารและสินค้าอุปโภคได้ครบทุกอย่างที่ต้องการ ผมพูดถึงเรื่อง สังคม เศรษฐกิจ ไปแล้ว เรื่องการเมืองนั้นคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควร มุมมองของการรวมขั้วอำนาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป โลกจะจะเกิดการถ่วงดุลของอำนาจแบบใหม่ที่มีมากกว่าหนึ่งหรือสองขั้ว จะบอกว่าการถ่วงดุลแบบใหม่นั้นมีให้เห็นมาตั้งแต่ที่สหรัฐไล่ตบกบาลอิหร่านหรือคิวบาได้ แต่ไม่กล้าใช้วิธีนั้นกับตี๋คิมเกาหลีเหนือ เพราะตั้งแต่เกาหลีเหนือทดสอบระเบิดเทอร์โมนิวเคลียร์ได้เป็นครั้งแรก และมีขนาดเล็กจนสามารถใส่ลงไปในขีปนาวุธข้ามทวีปไปลงในพื้นที่ส่วนใหญ่ของสหรัฐได้ ปธน.ทรัมป์ที่เคยขู่เช้าขู่เย็นพูดรุนแรงกับเกาหลีเหนือก็เปลี่ยนไปใช้วิธีทางการทูตเพิ่มขึ้นในทันที ในสงครามการค้านั้นสหรัฐเคยบีบจีนมาตลอดเพราะเป็นเจ้าของตลาดของผู้บริโภครายใหญ่ แต่หลังจากเกิดวิกฤติไวรัสขึ้นมา สหรัฐรู้แล้วว่าถ้าจีนไม่ขายหรือผลิตสินค้าให้ หายนะนั้นคือสหรัฐเอง ซึ่งเวลานี้จีนก็ประกาศออกมาแล้วว่าอย่างน้อย 6 เดือนที่เลิกล็อกดาวน์ จีนจะผลิตสินค้าให้ในประเทศของตัวเองก่อนที่จะผลิตเพื่อการส่งออก การชะงักงันทางเศรษฐกิจนั้นเกิดขึ้นในสหรัฐและยุโรป และยุโรปนั้นรู้แล้วว่าในอนาคตจะทำอย่างไรกับนโยบายที่มีต่อจีน อย่างเช่น 14 ประเทศที่เคยแซงชั่นจีนตามคำสั่งสหรัฐนั้นไม่เดินตามหลัง ปธน.ทรัมป์อีกแล้วในเวทีโลกของการไม่เห็นด้วยในมติให้ไวรัสโควิด-19 นั้นมีต้นกำเนิดของโรคเกิดในประเทศจีน คำว่าไชนีสไวรัส (Chinese Virus) นั้นกลับไปทิ่มแทง ปธน.ทรัมป์หลังจากนักข่าวตั้งคำถามว่าตลอดเวลาหนึ่งเดือนในช่วง กพ.-มีค.ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลไม่ได้ทำอะไรเลยใช่ไหม ถึงปล่อยให้เกิดการระบาดจนกลายเป็นสหรัฐมีผู้ติดเชื้อและตายมากที่สุดในโลก การเมืองจะกลายเป็นว่าเสรีนิยมนั้นดีจริงหรือไม่ ประชาชนจะตั้งคำถามนี้กันเอง เงินที่ประชาชนจ่ายในการประกันสุขภาพนั้นช่วยชีวิตอะไรชาวนิวยอร์กที่จำนวนล้มตายอันดับหนึ่งของประเทศไม่ได้เลย นโยบายแนวสังคมของโอบามาแคร์ที่ ปธน.ทรัมป์ฉีกทิ้งนั้นจะดีกว่าไหมถ้ายังมีอยู่ ปัญหาคนเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพเพราะราคาแพงจะน้อยลงไปหรือไม่ เพราะถึงแม้จะจ่ายประกันแล้วก็ยังช่วยอะไรไม่ได้จนกว่าจะป่วยจนไม่ไหวจริงๆ ถึงจะใช้บริการได้ ซึ่งรอให้อาการถึงขนาดนั้นก็สายไปแล้ว เพราะไม่มี รพ.และจำนวนเตียงในระบบของการแพทย์ที่เพียงพอจะรับมือ ระบบ Medicare และ Medicaid ที่มีอยู่นั้นล้มเหลวสิ้นเชิง ในขณะที่อังกฤษนั้นมีเงินน้อยกว่าและขาดงบประมาณฉุกเฉินจะใช้วิธีการ herd immunity หรือปล่อยให้ติดเชื้อจนประชาชนสร้างภูมิคุ้มกันได้เอง ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีคนตายระดับแสนคน เพราะรัฐบาลไม่มีเงินมากพอ จนประชาชนคัดค้านเพราะไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้ รัฐบาลถึงมีการใช้มาตรการอื่นแทน ในขณะที่อีกฟากที่ไม่ใช่เสรีนิยมแบบจีนนั้นไม่ทิ้งใครให้นอนตายที่บ้าน ใครป่วยก็เข้าศูนย์หมด จนเวลานี้กลายเป็นว่าจำนวนการป่วยและตายของจีนนั้นน้อยกว่าประเทศเสรีนิยมระดับแนวหน้าสิบกว่าประเทศเสียอีก เรื่องนี้อาจจะไม่ถูกใจพวกนิยมลิเบอร่านมากนัก แต่ในอนาคตนั้นประเทศส่วนใหญ่จะไปในทางนี้กันเกือบทั้งหมด และการเมืองท้องถิ่นจะมาแรงกว่าการเมืองส่วนกลาง เพราะการเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ในช่วงวิกฤติครั้งนี้จะแสดงให้เห็นความสำคัญของการบริหารท้องถิ่น เลือกตั้งครั้งหน้าคงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของปีกต่างๆ ในรัฐบาลของสหรัฐและยุโรป และแน่นอนว่าประเทศไทยนั้นก็ไม่พ้นจากมุมมองทางการเมืองแบบนี้เช่นกัน การเมืองท้องถิ่นหลายพื้นที่ออกมาล็อกบ้านตัวเองก็ไม่ใช่เสรีนิยม หลายมาตรการฉุกเฉินที่รัฐบาลส่วนกลางใช้นั้นก็ไม่ใช่วิธีของรัฐบาลแนวเสรีนิยมสักเท่าไร แต่ผลงานที่ออกมาก็ทำให้ประเทศไทยดูดีในสายตาของคนทั้งโลก ทั้งที่ประเทศไทยเราคือหมายเลขสองหลังจากเกิดการระบาดหนักในประเทศจีน ** แนวทางที่สองในมุมมองของผม มีวัคซีนแล้วในปี 2021 แต่เชื้อไวรัสนั้นพัฒนาตัวเองออกไปเรื่อยๆ จนวัคซีนนั้นวิจัยตามหลังไม่ทัน ซึ่งเวลานี้ไวรัสโควิด-19 นั้นมีอยู่สามสายพันธุ์เข้าไปแล้ว การระบาดจะยังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเมืองใหญ่ทั่วโลก จากอัตราการเสียชีวิตที่ประมาณ 3% ในขณะที่ระบาดในจีนเมื่อสองเดือนก่อนนั้น กลายเป็น 10% ไปแล้วในสเปนวันนี้ จะเนื่องจากสายพันธุ์ของไวรัสที่แตกต่างหรือระบบการแพทย์ที่แต่ละประเทศไม่สามารถรับมือได้ในระดับที่เท่าเทียมกันนั้น คงยากที่จะสรุปในเวลานี้ สิ่งที่ผมเขียนมาทั้งหมดนั้นคงยังไม่เกิดขึ้นเต็มรูปแบบ เพราะสังคมจะยังล็อกดาวน์ต่อไป และล็อกดาวน์กันหลายครั้งในแต่ละเมือง จุดจบของวิกฤตินี้คงยากที่จะคาดเดาถึงว่าในปี 2021 นั้นจะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทุกประเทศในโลกนี้อาจจะไม่มีทางเลือกที่ต้องกลายเป็นจำยอมใช้วิธี herd immunity หรือปล่อยให้ติดเชื้อจนประชาชนสร้างภูมิคุ้มกันได้เองไม่ต่างกับการระบาดของไข้หวัดสเปนในอดีตที่มีคนตายรวมกันทั้งโลก 40 ล้านคนหรือไม่ สภาวะเศรษฐกิจของโลกยังทนกับการระบาดต่อไปอีกสองปีได้หรือไม่ โลกทั้งใบจะโดนกระทบหนักว่าเมื่อครั้ง Great Depression ในปี 1930 หรือไม่ สภาวะการเมืองโลกจะเปลี่ยนไปในทางไหน ในวันนี้คงยากที่จะคาดเดาถึงปีหน้า เพราะเวลานี้เพียงสามเดือนก็เดากันยากแล้ว