การหยุดเชื้อ เพื่อชาติ เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด -19 ทำให้ประชาชนอยู่บ้านมากขึ้น ใกล้ชิดสัตว์เลี้ยงมากขึ้น เชื้อไวรัสที่เป็นอันตรายใกล้ตัวประชาชนอีกชนิดคือไวรัสที่ทำให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้า ความร้ายแรงของไวรัสชนิดนี้หากได้รับเชื้อแล้วแสดงอาการจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ นับเป็นโรคอันตรายที่ประชาชนไม่ควรมองข้าม ซึ่งแม้ว่าจะไม่มียารักษาแต่โรคพิษสุนัขบ้า สามารถป้องกันได้ กรมปศุสัตว์เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ห่วงใยความปลอดภัยของประชาชน และได้น้อมนำ โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย โครงการตามพระปณิธานของ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี ดูแลประชาชนทั่วประเทศ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล ได้ให้รายละเอียด ถึงโครงการสัตว์ ปลอดโรค คนปลอดภัย ว่า “ตั้งแต่ปี 2562 อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต ได้กำหนดให้ปี 2562 เป็นปีแห่งการเฝ้าระวังควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทำให้อัตราการติดเชื้อในสัตว์ และการเสียชีวิตในคนลดลง จากปี 61 ซึ่งพบอัตราติดเชื้อในสัตว์ 15 เปอร์เซ็นต์ มีผู้เสียชีวิตถึง 18 ราย ในปี 62 อัตราการติดเชื้อในสัตว์ลดเหลืออยู่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ มีผู้เสียชีวิต 3 รายแล้ว และในปี 63 กรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศจำนวน 7777 ท้องถิ่น ตั้งเป้าหมายว่าปี 63 นี้ ทุกท้องถิ่นทั่วประเทศจะเป็นพื้นที่ปลอดจากโรคพิษสุนัขบ้า” “โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี กรมปศุสัตว์เป็นเจ้าภาพหลัก ในเรื่องการเฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันโรคระบาด ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ จัดอาสาสมัครออกฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรค ผ่าตัดทำหมันลดจำนวนประชากรสุนัข อาสาสมัครทุกคนจะได้รับการฝึกอบรมจากสัตวแพทย์ในเรื่องของความรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้า การฉีดและเก็บรักษาวัคซีน สำหรับประชาชนที่มีความต้องการที่จะขอรับบริการการทำหมันให้สัตว์เลี้ยงของท่าน ทั้งสุนัขและแมว สามารถขอเข้ารับบริการโดยติดต่อผ่านองค์การบริหารส่วนตำบล หรือเทศบาลใกล้บ้านท่าน และตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ตั้งเป้าไว้ว่าปี 63นี้ จะต้องลดจำนวนสัตว์จรจัดให้น้อยลง โดยให้ทำหมันสัตว์จรจัดให้ได้ 600,000 ตัว คิดเป็น 20 เปอร์เช็นต์ ของจำนวนสัตว์จรจัดทั้งประเทศ และการฉีดวัคซีนให้สัตว์จรจัดเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ได้ประสานงานกับองค์การปกครองท้องถิ่น เพื่อจัดหาวัคซีน และกรมปศุสัตว์รับผิดชอบในการฉีดวัคซีน” ปัญหาเรื่องโภชนาการในเด็กและเยาวชนถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในโรงเรียน เด็กนักเรียนจำนวนมากยังขาดแคลนอาหารกลางวัน มีอาหารกลางวันในปริมาณที่ไม่เพียงพอหรืออาหารมีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ มีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและสมอง ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้จัดให้มีการเสวนา พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด โดยมีตัวแทนของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อนำความรู้และเทคนิคต่างๆ ไปปรับใช้ในการขับเคลื่อนกิจกรรมในจังหวัดของตน ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้ให้แนวทางในการดำเนินกิจกรรมการทำการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันว่า ผู้ประสานงานโครงการไม่จำเป็นต้องเป็นผู้บริหารโรงเรียน เพราะมักมีการโยกย้าย อาจจะทำให้การดำเนินงานไม่ต่อเนื่อง ผู้ประสานงาน ควรเป็นครูและนักเรียน เพราะจะทำให้การดำเนินงานและประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เข้ามาสนับสนุนได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากการเสวนาพูดคุยกันแล้ว ยังมีการนำตัวแทนโรงเรียนทั้ง 14 จังหวัด ลงพื้นที่โรงเรียนต้นแบบ ที่โรงเรียนวัดป่าระกำ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งทางโรงเรียนได้จัดแบ่งพื้นที่ด้านหลังของโรงเรียน สำหรับการปลูกผักสวนครัว และเลี้ยงสัตว์ ทั้งปลา กบ และไก่ โดยให้นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 แบ่งกันรับผิดชอบและดูแล ใช้วิธีพี่สอนน้อง เพื่อความต่อเนื่องของโครงการ ผลผลิตที่ได้จะถูกส่งให้กับโรงอาหารของโรงเรียน และผลผลิตที่เหลือ จะนำออกมาจำหน่ายให้กับคนในชุมชน เป็นการสร้างรายได้ให้กับนักเรียน ในระยะแรกของการดำเนินโครงการ โรงเรียนได้ขอความร่วมมือจากชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ให้ช่วยกันคิดวางแผนและสนับสนุนเงินทุน ทำให้การดำเนินโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนเกิดความต่อเนื่อง เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ หลักของความพออยู่ พอกิน พอใช้ ที่เป็นหัวใจของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นายสิทธิพร แจ่วประสิทธิ์ ครูโรงเรียนรักไทย จ.นราธิวาส ได้กล่าวถึงโครงการนี้ว่า “ที่โรงเรียนรักไทย มีการดำเนินการอยู่แล้วบางส่วน แต่ว่าอาจจะยังไม่เต็มรูปแบบและไม่ยั่งยืน ซึ่งทางกอ.รมน.ได้เข้ามาสนับสนุน กำหนดให้ครูและนักเรียนร่วมกันรับผิดชอบกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การเลี้ยงไก่ กลุ่มจะต้องดูแลตั้งแต่การเลี้ยง การจำหน่าย สรุปบัญชีรายรับ รายจ่าย สร้างระบบที่ดีให้กับโครงการของโรงเรียน ก่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนของโครงการ” นายอุดร สายสิงห์ ครูโรงเรียนโกตาบารู อ.รามัน จ.ยะลา กล่าวเสริมว่า “โรงเรียนบ้านโกตาบารู เป็นโรงเรียนขยายโอกาส เด็กในโรงเรียนมีปัญหาครอบครัว ปัญหาค่าใช้จ่าย ปัญหาการเดินทาง กลไกลการจัดการของโรงเรียนก็คือการสร้างภาคีเครือข่าย สร้างแรงจูงใจให้เด็กเข้ามาร่วมกิจกรรม โดยมีครูเป็นตัวอย่าง ทำให้เด็กได้รับความรู้ ได้อาชีพติดตัวจากการได้ลงมือทำการเกษตร ปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ สามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเอง ผมให้นิยามการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในโรงเรียน เป็นเสมือนการสร้างศูนย์ฝีกพลเมืองที่ดีให้กับชุมชนและประเทศ” นายสมรัก ใจเหล็ก ปราชญ์ชาวบ้าน จาก จ.ตรัง กล่าวเพิ่มเติมถึงความร่วมมือระหว่างปราชญ์ชาวบ้าน กับโรงเรียนว่า “การเข้าร่วมโครงการอาหารกลางวันเด็กในครั้งนี้ ได้รับการประสานงานจากหน่วยงานภาคความมั่นคง เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนที่ได้รับทุนโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งทางโรงเรียนอาจไม่มีความเชี่ยวชาญ เรื่องการทำการเกษตร ปลูกผักสวนครัว และเลี้ยงสัตว์ ปราชญ์ชาวบ้านจะเข้ามาช่วยเสริมความรู้ด้านนี้ ช่วยวางแผนในเรื่องการจัดการด้านการขายผลผลิต ทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในโครงการ เด็กๆได้เรียนรู้ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในครอบครัวได้” หลังจากการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้แล้ว กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดต่างๆ จะดำเนินการลงพื้นที่สำรวจความต้องการของชุมชน ค้นหาโรงเรียนที่ขาดแคลนอาหารกลางวัน และมีความพร้อมที่จะเข้าสู่โครงการชุมชนร่วมใจเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในปี 2563 ต่อไป การร่วมมือกันของคนในชุมชน นับว่าเป็นเรื่องสำคัญในการช่วยพัฒนา และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนในชุมชนของตัวเอง โดยชุมชน ต.ยายชา อ.สามพราน จ.นครปฐม นับเป็นชุมชนตัวอย่างในเรื่องการจัดการระบบสวัสดิการชุมชน นายโอฬาร เหล่าประยูรศิริ ปลัด อบต.ยายชา อ.สามพราน จ.นครปฐม กล่าวถึงความสำเร็จของชุมชนว่า “ชุมชนยายชา มีทั้งหมด 6 หมู่ ชาวบ้านได้รวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มจิตอาสาตั้งแต่ ปี 2555 กลุ่มอาสาสมัครท้องถิ่นรักโลก (อถล.) เป็นกลุ่มที่ตั้งเป้าหมายให้ชุมชน เป็นชุมชนปลอดขยะ ต.ยายชา เป็นพื้นที่ที่มีผักตบชวาเป็นจำนวนมาก ทางกลุ่มจิตอาสา อถล.ได้ร่วมกันขจัดปัญหาผักตบชวา โดยการแปรสภาพผักตบชวาให้กลายเป็นปุ๋ย และโครงการดูแลสุขภาพคนในชุมชน ของกลุ่มแคร์กีฟเวอร์ (CG ) ได้รับความสำเร็จอย่างมากในการดูแลผู้ป่วย จากผู้ป่วยติดเตียง ให้เป็นผู้ป่วยที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ กลุ่มแคร์กีฟเวอร์ (CG ) ทำงานประสานกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เข้าไปเสริมเรื่องการทำกายภาพบำบัดให้ผู้ป่วยติดเตียง จิตอาสาทุกคน ทำงานโดยไม่มีค่าจ้าง ทุกคนทำด้วยใจ ทุกคนคือความภาคภูมิใจของชุมชน” นางสาวภัสมพร อ้นวงษา ประธานกลุ่มแคร์กีฟเวอร์ (CG) กล่าวว่า “โครงการ แคร์กีฟเวอร์ เกิดจากกลุ่มชาวบ้านจิตอาสาที่พร้อมจะให้การช่วยเหลือคนในชุมชน ภารกิจของกลุ่มจิตอาสา CG คือการดูแลผู้สูงอายุ ให้สามารถฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ หรือประคับประคองระยะสุดท้ายของท่านอย่างมีความสุข ภารกิจนี้ตอบสนองความต้องการของชุมชน ในเรื่องการดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่ป่วยติดเตียง และการได้ช่วยเหลือผู้อื่น เท่ากับเราได้ช่วยเหลือตัวเอง การไม่รอความช่วยเหลือจากภายนอก หรือไม่ร้องความช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่เป็นการช่วยเหลือกันเองในชุมชน จะเป็นการช่วยเหลือที่ยั่งยืน การมีสวัสดิการและสุขภาพที่ดีของคนในชุมชน เป็นความภาคภูมิใจของกลุ่ม” นอกจากจัดสวัสดิการพื้นฐานเกี่ยวกับการดูแลสมาชิกยามเกิดแก่เจ็บตายแล้วทางชุมชน ได้มีการต่อยอดขยายผลไปสู่การทำกิจกรรมอื่นๆ เช่นการดูแลสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะอินทรีย์และขยะรีไซเคิล ในครัวเรือน กิจกรรมการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง การเปลี่ยนขยะเป็นเงิน สร้างรายได้ให้กับครอบครัวและช่วยลดปริมาณขยะในชุมชน ความสำเร็จของชุมชนอย่างยั่งยืน เกิดจากพลังของคนในชุมชนที่ร่วมกันขับเคลื่อนกลไกต่างๆ สร้างความเข็มแข็งให้ชุมชนสู่สังคมและประเทศ ความเข็มแข็งของสังคม จะทำให้เราก้าวผ่านวิกฤต ทุกวิกฤต ไปด้วยกัน