“สกสว.”เผยผลวิจัยพฤติกรรมการใช้ชีวิตของครัวเรือนไทยทั่วประเทศมีผลโดยตรงต่อการยับยั้งและแพร่ระบาดของ COVID-19ระบุถ้ารัฐต้องการความร่วมมือมากขึ้นต้องปรับช่องทางการใช้สื่อ ปรับเนื้อหาสื่อสารให้ตรงพฤติกรรม ความร่วมมือป้องกันการแพร่ระบาดจะมากขึ้นตามไปด้วย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยรายงานการวิจัยต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)ว่า งานวิจัยพบว่าคนไทยตื่นตัวเฝ้าระวัง รับรู้ข่าวสาร และเข้าใจมาตรการต่างๆของรัฐชัดเจน ส่วนใหญ่พร้อมที่จะปฏิบัติตามข้อแนะนำของฝ่ายสาธารณสุข แต่มีข้อจำกัดหลายข้อซึ่งเป็นผลจากพฤติกรรมครัวเรือนประจำวัน หรือเป็นพฤติกรรมทางสังคมทำให้มาตรการเหล่านั้นได้ผลน้อย หากรัฐต้องการความร่วมมือมากขึ้นต้องปรับช่องทางการใช้สื่อ ปรับเนื้อหาการสื่อสารให้เหมาะสม ตรงกับพฤติกรรมประจำวันให้มากขึ้น ความร่วมมือป้องกันการแพร่ระบาดจะมากขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้จากการติดตามและเฝ้าระวังเรื่องการรับรู้และผลการปฏิบัติตามมาตรการของรัฐในสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ซึ่งมีข่าวว่าประชาชนวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับมาตรการรัฐและปฏิบัติตามคำแนะนำแตกต่างกัน และบางกลุ่มก็คัดค้าน ผศ.ดร. ธานี จึงตั้งประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับพฤติกรรมคนไทยช่วงนี้ว่าจะมีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันโรคระบาดที่ฝ่ายสาธารณสุขเผยแพร่หรือไม่ และจะมีการตอบสนองอย่างไร ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ได้รับความร่วมมือจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว) เพื่อร่วมใช้ความรู้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาสังคมอย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยในงานวิจัยครั้งนี้ แบ่งการศึกษาคนไทยออกเป็น 4 กลุ่มคือ ผู้อยู่อาศัยในเขตเมือง (คนในเขตเมือง) ผู้อยู่อาศัยในเขตเมืองแต่รายได้น้อย (คนจนเมือง) ผู้อยู่อาศัยนอกเขตเมืองในต่างจังหวัด (คนชนบท) และผู้อยู่อาศัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คนชายแดนใต้) โดยศึกษาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของตนเองและการทำกิจกรรมร่วมกัน ศึกษาในช่วงเดือน มีนาคม 2563 ผ่านเครือข่ายวิจัยของกลุ่มสถาบันวิจัยระบบสุขภาพสาธารณสุข และเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ ทั่วประเทศ จากงานวิจัยพบว่าคนไทยทั่วประเทศติดตาม รับรู้ ข้อมูลข่าวสารและมาตรการป้องกันฯ จากฝ่ายสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด มีทัศนคคิต่อข้อมูลเหล่านั้นดี และยินดีปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐ เช่น การไม่มีกิจกรรมร่วมกันหรือไม่สังสรรค์ร่วมกัน (สูงถึง 90%) การไม่สัมผัสมือ (92%) และการล้างมือก่อนกินข้าวทุกครั้ง (80%) หรือการอยู่บ้าน (90%) นั่นหมายถึงคนไทยส่วนใหญ่ตอบสนองต่อมาตรการของรัฐดี ยินดีร่วมมือปฏิบัติตามข้อแนะนำอย่างพร้อมเพรียง อย่างไรก็ตาม สภาพการใช้ชีวิตและทำกิจกรรมประจำวันที่แตกต่างกันระหว่างคนเขตเมือง คนจนเขตเมือง คนชนบทและคนเขตชายแดนภาคใต้ จึงทำให้มาตรการที่ฝ่ายสาธารณสุขแนะนำให้งดเว้นหลายข้อได้รับความร่วมมือไม่มากนัก เช่น การเข้าไปในพื้นที่แออัด การเข้าพื้นที่ตลาด หรือการใช้รถสาธารณะของคนจนเขตเมือง ยังสูงถึง 35% และ 22% และคนเขตชายแดนใต้ยังใช้พื้นที่ร่วมกันทำกิจกรรมทางศาสนาสูงถึง 20% สำหรับสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ประชาชนดื้อรั้น หรือไม่เห็นด้วยกับมาตรการของรัฐ งานวิจัยพบอีกว่า 89% ของกิจกรรมร่วมกัน หรือสังสรรค์กันของคนเหล่านี้ เกิดขึ้นภายในบ้านหรือครัวเรือน ข้อแนะนำบางข้อ เช่น การไม่ใช้มือจับหน้า ไม่สัมผัสหน้า การล้างมือก่อนกินข้าว ล้างมือหลังจากเข้าห้องน้ำ จึงเป็นข้อนำที่ปฏิบัติได้ยาก เพราะครอบครัวจะเคยชินกับกินข้าวร่วมกันอันเป็นพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทยเหล่านั้น หรือมาตรการเรื่องการเว้นระยะห่าง ผลตอบรับจากคนกลุ่มนี้ก็จะไม่ดี เพราะสัดส่วนของจำนวนคนต่อการใช้พื้นที่ ค่อนข้างหนาแน่น เป็นครัวเรือนที่อาศัยอยู่ร่วมกันในบ้านหรือในห้องเดียวกันหลายคน และด้วยสภาพทางเศรษฐกิจ ห้องก็อาจไม่กว้างมากพอที่จะเว้นระยะห่าง มาตรการนี้จึงได้รับความร่วมมือน้อยกว่าคนในเมือง ถ้ารัฐจะหยุดยั้งการแพร่ระบาดให้สำเร็จ จะต้องเพิ่มระดับการควบคุมจากระดับบุคคลต่อบุคคล เสริมด้วยระดับบุคคลในครัวเรือนต่อบุคคลภายนอกด้วย โดยข้อเสนอหนึ่งของทีมวิจัยต่อการสื่อสารเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดนี้คือ ควรมีคำแนะนำหรือข้อปฏิบัติบอกว่าต้องทำอย่างไร ถ้าต้องอยู่ร่วมกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น วิธีปฏิบัติตัวก่อน-หลังเข้าบ้าน วิธีใช้ห้องน้ำร่วมกัน วิธีอยู่ร่วมกันในบ้านกับเสนอให้รัฐ มองขอบเขตการควบคุมจากระดับบุคคล ให้เป็นระดับเป็นครัวเรือน ต้องมีมาตรการหลากหลายให้เหมาะสมกับพื้นที่และพฤติกรรมของครัวเรือน เสนอแนะว่าควรยกจากระดับปัจเจกบุคคลควบคู่ไปกับการดูแลเป็นครัวเรือน