ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Seri Phongphit" ระบุข้อความว่า...
#คลายล็อคหรือล็อคต่อ (20) Covid-19 เรียนรู้จากสถานการณ์ (17-04-2020) หลายประเทศเริ่มคลายล็อค แต่ด้วยความระมัดระวัง อ้างว่า ตัวเลขไม่พุ่งขึ้น เพิ่มแบบชะลอตัว จึงคาดว่าน่าจะเลยจุดสูงสุดไปแล้ว ไม่รู้ว่าปลอบใจตัวเองหรือไม่ เพราะในความเป็นจริง แม้จำนวนเพิ่มจะน้อยกว่าวันก่อนหน้านั้น แต่ก็เป็นจำนวนมาก ทั้งผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต อย่างกรณีสหรัฐอเมริกาที่ประธานาธิบดีทรัมป์พูดทุกวันแบบปลอบใจตัวเองและประชาชนว่า ไม่นานก็กลับไปสู่สภาวะปกติแล้ว ตอนแรกก็นึกว่าตนเองมีอำนาจสูงสุด จะสั่งทุกรัฐให้ปิดให้เปิดได้ เอาเข้าจริงก็หน้าแตก เพราะรัฐธรรมนูญเขาไม่ได้ให้อำนาจถึงขนาดนั้น (นายคัวโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์คบอกว่า คุณไม่ใช่พระเจ้าทรัมป์ คุณเป็นประธานาธิบดีทรัมป์) แต่โดนัลด์ ทรัมป์ก็ไม่สน เปลี่ยนความคิดได้วันหลายครั้ง สาเหตุที่ทุกประเทศต้องคลายล็อคเพราะปัญหาเศรษฐกิจหนึ่ง ปัญหาสังคมหนึ่ง คนเครียดจัด ไม่อาจรับการถูกกักตัวแบบเข้มได้นานเป็นเดือนๆ เช่นนี้ มีปฏิกิริยาทั่วโลก มีการประท้วงในหลายรัฐที่อเมริกาและในยุโรปหลายประเทศ ในแอฟริกาก็จราจลแย่งชิงอาหารกัน ที่อินเดียก็ประท้วงให้เปิดเดินรถไฟรถบัส คนเป็นล้านที่ถูกกักในเมืองใหญ่อยากกลับบ้านเกิด อยู่ไปไม่มีงานทำ ไม่มีกิน รัฐบาลก็สั่งหยุดการคมนาคมทั้งหมด ชาวบ้านจะเดินกลับบ้านก็ถูกกักถูกห้ามอีก สุดท้ายคนก็ไม่ไหว แม้แต่ในเยอรมนีก็มีคนจำนวนมากผิดหวังกับมาตรการคลายล็อควันก่อน ที่คาดหวังว่ารัฐบาลจะคลายมากกว่านั้น อนุญาตให้ร้านค้าที่มีพื้นที่ต่ำกว่า 800 ตร.ม.เปิดได้ ยังห้ามเปิดห้างใหญ่ ร้านอาหาร โบสถ์ทุกศาสนา โรงเรียน และการชุมนุมใหญ่ต่างๆ ซึ่งจะต้องรอไปถึงปลายสิงหา ร้านตัดผมทำผมเปิดต้นพฤษภา (ยุคฮิปปี้น่าจะกลับมา ปล่อยผมยาวดูดี) รัฐบาลกลางเยอรมันที่ตัดสินใจเรื่องนี้บอกว่า ยังไงก็ขอให้อดทนไปอีกหน่อย เพราะถ้าคลายล็อคเร็วไป ไวรัสกลับมาคงยากที่จะเอาอยู่ จะร้ายแรงกว่าเดิม ชาวบ้านบอกว่าก็ขู่ไปเรื่อย จะเห็นว่า ประเทศทั่วโลกมีมาตรการแตกต่างกันมาก ตั้งแต่ล็อคเข้ม (hard lock down) แบบจีน ไปจนถึงไม่ล็อคดาวน์อย่างเบลารุส หรือล็อคเบา (soft lock down) แบบสวิเดน ที่เป็นเช่นนี้เพราะเป็นครั้งแรกที่เกิดโรคระบาดร้ายแรงในลักษณะนี้ ไม่มีใครมีประสบการณ์มาก่อน จึงมีแนวคิดแนวทางหลากหลาย จึงมีกรณีอย่างฝรั่งเศสกับสหราชอาณาจักรที่ตัวเลขพุ่งขึ้นทุกวัน ที่ตัดสินใจขยายเวลาล็อคดาวน์ออกไปอีกหลายสัปดาห์ ยังความขุ่นเคืองให้ประชาชนจำนวนมาก ขณะที่อิตาลีกับสเปนเริ่มคลายมาตรการเล็กๆ เพื่อปลอบใจประชาชน แม้ตัวเลขยังสูงอยู๋ก็ตาม มีกรณีสวิเดนที่น่าศึกษาว่า ทำไมจึงมีมาตรการแบบเบาจนดูเหมือนว่าชีวิตดำเนินไปตามปกติ จนหลายคนรวมทั้งนายทรัมป์ออกมาบอกว่า สวิเดนมีแนวคิดแบบ “ภูมิต้านทานหมู่” (herd immunity) คือปล่อยให้ระบาดไปเรื่อยๆ จนหยุดเองเมื่อระบาดไปถึงร้อยละ 70 ของประชากร ก็จะเกิดภูมิต้านทานทั้งชาติ ซึ่งสวิเดนปฏิเสธ เพราะถ้าปล่อยเช่นนั้นจริง สวิเดินซึ่งมีประชากร 10 ล้านคน ต้องให้ติดเชื้อ 7 ล้านคน และคนเสียชีวิตอาจประมาณ 1-2 ล้านคน ซึ่งคงเป็นราคาที่ “แพงเกินไป” และเป็นไปไม่ได้ที่ประชาชนคนสวิเดนจะยอม แม้ว่ารัฐธรรมนูญประเทศนี้ให้สิทธิเสรีภาพประชาชนสูงมาก ซึ่งก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลใช้มาตรกร “ล็อคเบา” เพราะเขาฟังว่าประชาชนคิดอย่างไร และไม่ตัดสินใจคนเดียว นายทรัมป์บอกว่า สวิเดนกำลังรับผลกระทบหนัก คนติดเยอะ ตายมาก เขาพูดเช่นนี้เพื่อปลอบคนอเมริกันที่อยากให้อเมริกาคลายล็อคว่า ดูสวิเดนไว้เป็นตัวอย่าง (ที่ไม่ดี) แกบอกว่า มาตรการของอเมริกานั้นดีที่สุดแล้ว แกไม่เขินที่จะให้คะแนนการแก้ปัญหาโควิด-19 ของตัวเอง 10 เต็ม 10 แม้ว่า “อเมริกามาก่อน” ใครจริงๆ ในจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคระบาดนี้ คนสวิเดนส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยกับมาตรการล็อคเบาของรัฐบาล แม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะสูง (วันนี้ 12,540 คนตาย 1,333 คน) และเพิ่มขึ้นต่อวันค่อนข้างสูง และได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากประเทศต่างๆ ว่า สวิเดนกำลังเล่นกับความตาย หรือเป็นเกมรัสเซียนรูแล็ต (ปืนมีกระสุนนัดเดียว ผลัดกันยิงขมับตัวเอง แบบฉากในหนัง The Deer Hunter ในสงครามเวียดนามที่ผมเรียกว่าเกม “โป้งเดียวจอด” ) แต่สวิเดนก็บอกว่า เขามีมาตรการที่น่าจะเหมาะสมกับวิถีของชาวสวิเดน กับรัฐธรรมนูญของประเทศนี้ แม้คนต่างชาติเดินทางไปสวิเดนจะเห็นเหมือนว่าทุกอย่างเป็นปกติ คนยังไปกินข้าวร้านอาหาร ไปซื้อของ ไปทำงาน เด็กๆ ยังไปโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถม คนยังไปอาบแดดเต็มสวนสาธารณะในวันอากาศดี ซึ่งไม่มีในประเทศอื่นๆ ในยุโรป แต่คนสวิเดนก็บอกว่า เราห้ามการชุมนุมเกิน 50 คน ปิดโรงเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัย ส่วนการรักษาระยะห่างทางสังคมก็เป็นข้อแนะนำ ไม่ได้บังคับ รวมทั้งการดูแลผู้สูงอายุมากกว่า 70 ปีเป็นพิเศษ เพราะเชื่อว่าคนมีสามัญสำนึกดีพอ คิดเองได้ ดูแลตัวเองได้ คนสวิเดนจำนวนมากจึงเลือกทำงานที่บ้าน ไม่เสี่ยงออกไปในที่มีคนมากๆ อย่างร้านอาหาร ซื้อของ และอื่นๆ คนที่ออกไปก็เสี่ยงเอง สวิเดนบอกว่า การล็อคดาวน์คนเดือนสองเดือนเป็นเรื่องที่ยากจะทนได้ และก็ได้เห็นแล้วว่าเป็นเช่นนั้นในประเทศต่างๆ ซึ่งก็พยายามหาทางผ่อนคลายมาตรการล็อคลง สวิเดนบอกว่า แม้วันนี้จะมีคนติดเชื้อและเสียชีวิตที่สวิเดนมากกว่าที่เดนมาร์กและนอร์เวย์ สองประเทศเพื่อนบ้านที่มีมาตรการล็อคดาวน์เข้ม คนติดเชื้อน้อยกว่า ตายน้อยกว่าเท่าตัว พวกเขาเชื่อว่า เมื่อสองประเทศนั้นปลดล็อค ไวรัสจะกลับมาและคนจะติดเชื้อและเสียชีวิตมากกว่าสวิเดน เพราะไวรัสตัวนี้เราไม่สามารถ “กำจัด” (suppress) ได้หมด เราทำได้เพียง “จัดการ” (manage) มันให้ได้เท่านั้น สวิเดนเชื่อว่า พวกเขากำลังจัดการมันอย่างถูกวิธีแล้ว คงไม่มีใครผิดใครถูก เพราะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการระบาดแบบนี้ ในยุคโลกาภิวัตน์ที่ทุกอย่างเชื่อมต่อถึงกันหมดยิ่งกว่ายุคสมัยใดๆ “เด็ดดอกไม้ดอกเดียวกระเทือนถึงดวงดาว” วันนี้จึงจริงยิ่งกว่าทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ คงต้องรอให้มันผ่านไปแล้วมาดูกันว่า วิธีไหนถูกกว่าวิธีไหน ดูกันที่ผล ประเทศไทยก็เหมือนหลายประเทศ การล็อคดาวน์ส่งผลทุกด้าน ทางสังคมเศรษฐกิจและกระเทือนการเมือง คนเริ่มทนไม่ไหวกับมาตรการล็อคดาวน์ และการไม่มีจะกินจะใช้ การเยียวยาที่ไม่ทั่วถึง ไม่ทันการณ์ อาจจะกลายเป็นโศกนาญกรรม “กล่องข้าวน้อยฆ่าแม่” อย่างที่คุณดนุพล แก้วกาญจน์เตือนไว้ก็ได้ แม้ว่าสถานการณ์ของไทยไม่ได้เลวร้ายเกินไปนักถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นแต่ละวันน้อย แต่กระนั้นทางรัฐบาลก็ยังไม่อยากให้ “ลดการ์ด” ลง เห็นกรณีญี่ปุ่นและสิงคโปร์ที่ตัวเลขกลับมาพุ่งแล้วก็กลัวว่า ไทยจะเป็นแบบเดียวกัน การลงทุนลงแรงไปมากมายก่อนนี้จะเสียเปล่า ก็พอฟังได้ แต่ปัญหาใหญ่สุดวันนี้คือเรื่องเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลก็พยายามเยียวยาด้วยมาตรการมากมาย แต่ดูเหมือนว่า ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นและอาจจะลุกลามไปไกลจนแก้ไขยาก เกิดจากการบริหารจัดการโดยหน่วยงานราชการ “แบบราชการ” และฐานข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ สับสน นี่ก็เห็นตั้งกรรมการเต็มไปด้วยปลัดกระทรวงต่างๆ เพื่อทำงานนี้อีก ทั้งๆ ที่มีคนมีความรู้ความสามารถในเรื่องการทำข้อมูล การบริหารจัดการจากภาคเอกชน สถาบันอุดมศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย รัฐบาลไม่ได้ระดม “คน” เหล่านี้มาช่วยกันทำงานให้มากที่สุด วิธีคิดวิธีทำแบบเดิมๆ แก้ปัญหาไม่ได้ คนมีความรู้มีปัญญามากมายเต็มบ้านเต็มเมืองกลับไม่ใช้ ประเทศเกาหลีได้รับการยกย่องจากทั่วโลกว่า มีวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากในการจัดการกับการระบาดนี้ โดยไม่ได้มีการล็อคดาวน์แบบเข้ม คนยังออกไปกินข้าว ซื้อของ ทำงาน แต่เขามีวิธีการติดตามผู้ติดเชื้อ คนป่วย ผู้เสี่ยง ได้หมดทุกคนจนจัดการให้กักตัว หรือไปรักษา เกาหลีทำได้เพราะ “รู้เท่าทัน” ตามทัน จัดการโคโรนาไวรัสได้ โดยไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนจนเกินไป เพราะเกาหลีระดมคนมีความรู้ มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ลงทุนตรวจ (test) อย่างมากมายตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งได้ผลคุ้มทางเศรษฐกิจและสังคม เป็น "การขาดทุนที่เป็นกำไร” แทนที่เราจะดูแต่ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ น่าจะดูเกาหลีและไต้หวันด้วยก็จะดี แทนที่จะเอาแต่ข้าราชการทำงาน หาคนเก่งๆ จากทุกภาคส่วนมาช่วยกันทำงาน จะได้พลังปัญญาที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและระยาวแบบยั่งยืนได้ดีกว่า ใช้วิธีสั่งและสอนอย่างเดียวไม่พอ ใช้อำนาจกับเงินอย่างเดียวแก้ปัญหาไม่ได้