การศึกษาของธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่า "ไม่มีประเทศไหนในโลกนี้สามารถหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้โดยปราศจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยี" ซึ่งปัจจุบัน ไทย และมาเลเซียได้ถูกธนาคารโลกท้าทายในประเด็นนี้เอาไว้ นี่เป็นโจทย์สำคัญที่ภาครัฐกำลังผดักดันในเรื่อง "ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก" (Eastern Economic Corridor) หรือ "อีอีซี" ซึ่งมีหัวใจหลักอยู่ที่ การสร้างฐานการลงทุน และฐานเทคโนโลยีให้กับเยาวชนในอนาคต โดยด้วยภูมิศาสตร์ประเทศไทยถือเป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมต่อกับกลุ่มเศรษฐกิจในทวีปเอเชียจากเหนือสู่ใต้ ตั้งแต่จีนลงมา และจากตะวันออกมาตะวันตก และยังเป็นยุทธศาสตร์ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในด้านการผลิต การค้า การส่งออก และการขนส่ง อีกทั้งยังอยู่กึ่งกลางระหว่างกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ไทยเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุดของการลงทุนในอาเซียน เพื่อเชื่อมเอเชีย และเชื่อมโลก กว่า 30 ปีมาแล้ว พื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ "อีสเทิร์นซีบอร์ด" ได้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงการค้าการลงทุนกับทั่วโลก เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหลัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของเอเชีย เป็นฐานการผลิตยานยนต์ และอิเลคทรอนิกส์ที่สำคัญของโลก มีท่าเรือน้ำลึก โครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย เป็นแหล่งพลังงาน และวัตถุดิบการผลิต เป็นแหล่งจ้างงาน และแรงงานทักษะสูงที่สำคัญของเอเชีย จึงทำให้ "อีอีซี" เป็นพื้นที่ที่เหมาะสม และมีศักยภาพที่เหมาะสมที่สุดในการพัฒนาเพื่อก้าวเป็นผู้นำของเอเชีย เหตุนี้เอง รัฐบาลจึงตั้งใจจะผลักดันยกระดับพื้นที่กว่า 1.3 หมื่นตร.กม. ให้เป็นเขตอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เป็นที่ตั้งของสำนักงานระดับภูมิภาคของบริษัทชั้นนำของโลก โดยเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน การขนส่ง ด้วยการขยายการพัฒนาระบบคมนาคม และโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุด ครบครันที่สุดของประเทศ ได้แก่ การพัฒนาทางอากาศ คือ สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งได้รับการยกระดับให้เป็นสนามบินนานาชาติ มีรันเวย์มาตรฐาน อาคารผู้โดยสารที่ทันสมัย นอกจากรองรับนักธุรกิจ และผู้โดยสาร ยังสามารถรองรับธุรกิจขนส่งสินค้า และโลจิสติกส์อย่างครบวงจร อีกทั้งยังได้รับการส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางซ่อมอากาศยานที่ทันสมัยที่สุด รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบินต่างๆ เมื่อประสานกับสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ จะส่งผลให้ประเทศไทย กลายเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคเอเชีย ในส่วนของการพัฒนาทางบก เริ่มจากโครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ ขยายมอเตอร์เวย์ และภายในปี 2020 ประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่อุตสาหกรรมกรรม และท่าเรือทั้ง 3 แห่ง และสนามบินนานาชาติทั้ง 3 แห่ง และการพัฒนาทางน้ำ ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือหลักในการขนส่งตู้สินค้าโดยรถยนต์ จะได้รับการขยายให้มีศักยภาพรองรับจำนวนตู้สินค้าได้มากขึ้น เพื่อก้าวขึ้นเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าติดอันดับ 1 ใน 15 ของโลก ส่งเสริมท่าเรือพานิชย์สัตหีบให้เป็นท่าเรือสำหรับจอดเรือสำราญที่ทันสมัย ได้มาตรฐานระดับโลก อีกทั้งรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเรือ และการประกอบแท่นขุดเจาะน้ำมัน พัฒนาท่าเรือเฟอร์รี เพื่อเชื่อมต่อจุดท่องเที่ยวหลัก เหล่านี้จะทำให้อีอีซีกลายเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ของภูมิภาคเอเชียอย่างครบวงจร ทั้งนี้ การพัฒนาอีอีซี จะดำเนินการภายใต้ "พรบ.พัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก" ซึ่งถือว่าเป็นพระราชบัญญัติพัฒนาเชิงพื้นที่ฉบับแรกของประเทศไทยที่จะทำให้เกิดความต่อเนื่องในการลงทุนทั้งของภาครัฐ และเอกชนกว่า 1.5 ล้านล้านบาท จะให้สิทธิประโยชน์ในระดับสูงที่สุดแก่นักลงทุน รวมทั้งจัดให้มีระบบศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนในการให้บริการข้อมูลข่าวสาร การบริการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการค้า การส่งออกและนำเข้าในจุดเดียว นอกจากนี้ ในโครงการที่สำคัญยังจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากกองทุนเพื่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายอีกด้วย "ดร.คณิศ แสงสุพรรณ" เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กล่าวถึงสาเหตุสำคัญที่ต้องพัฒนาอีอีซี ก็คือ ประเทศไทยต้องเป็นฐานการผลิต เพราะการลงทุนของไทยมีน้อยมาก ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาขยายตัวแค่ร้อยละ 2.9 - 3 เท่านั้น ปกติต้องเห็นตัวเลขการลงทุนขยายตัวประมาณร้อยละ 10 ขณะที่ในเรื่องของเทคโนโลยีที่จะมากับธุรกิจชั้นนำ ก็ปรากฎว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยตกอบู่ท่ามกลางมีปัญหาความขัดแย้ง ทำให้บรรยากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ในอีอีซีจะส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมหลักเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย การต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิมได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูง อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ส่วนอุตสาหกรรมที่เพิ่มใหม่ ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ใช้สำหรับภาคอุตสาหกรรมและชีวิตประจำวัน อุตสาหกรรมการบินแบบครบวงจร ที่ประกอบด้วยศูนย์ซ่อมบำรุง ชิ้นส่วนอะไหล่ และศูนย์ฝึกการบิน อุตสาหกรรมการแพทย์และการดูแลสุขภาพแบบครบวงจร อุตสากรรมไบโออิโคโนมี โดยเฉพาะเคมีชีวภาพ และพลังงาน "สมัยที่ทำอีทเทิร์นซีบอร์ดระยะแรก ต้องยอมรับว่าตอนนั้นไม่มีเงิน สมัยนั้นเอาเงินมาจะลงอะไรก็ได้ แต่ตอนนี้พอมีเงิน เราไม่ได้รีบร้อนมากนัก เราอยากได้เทคโนโลยี เพราะถ้าไม่มีประเทศไทยจะไปไม่ไหว โดยเป้าหมายระยะยาว 10 ปี ก็คือไทยแลนด์ 4.0 คนไทยมีระดับรายได้สูงขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีกาใช้เทคโนโลยีในการหารายได้" ทั้งนี้ ดร.คณิศระบุว่า ในการทำอีอีซีนั้น จะใช้ 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทราเป็นจุดเริ่มต้น เพราะเป็นอีสเทิร์นซีบอร์ดเก่า พร้อมจะทำได้รวดเร็ว มีโครงสร้างพื้นฐานพอสมควร แค่ต้องมาจัดให้เป็นระบบแต่ไม่ได้ใช้เต็มพื้นที่ ใช้แค่บริเวณที่เรียกว่า "เขตส่งเสริมพิเศษ" เท่านั้น ที่ประกาศไปแล้ว ก็เช่น เขตสนามบินอู่ตะเภา "30 ปีที่ผ่านมา ทำพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมไป 1.18 แสนไร่ คิดเป็น 1.4% ของ 3 จังหวัด เบื้องต้น 5 ปีแรกของอีอีซีจะใช้ประมาณ 5 หมื่นไร่ แค่ 0.6% ของพื้นที่ 3 จังหวัดเท่านั้น ก็ไม่ได้เบียดบังพื้นที่ของชาวบ้านอย่างที่มีคนกลัว เคยทำมาแล้ว โครงสร้างคล้ายๆ กัน เพียงแต่ตอนนี้เอาอุตสาหกรรมไฮเทคไปลง" บทเรียนที่ได้จากการไม่ค่อยประสบความสำเร็จของอีสเทิร์นซีบอร์ดที่อีอีซีต้องระมัดระวังก็คือ ระบบขนส่งทางรถไฟที่ใช้ลำเลียงสินค้าไปท่าเรือแหลมฉบัง ที่ปัจจุบันใช้อยู่แค่ร้อยละ 9 ขณะที่ตัวเลขควรจะเป็นคือร้อยละ 30 และการยกระดับเรื่องการศึกษามารับเรื่องเทคโนโลยีไม่ทัน ดังนั้นอีเทิร์นซีบอร์ดจึงมีจุดอ่อนตรงที่เวลามีการลงทุนจำนวนมากๆ คนไทยจึงเหมือนจะไม่ได้ประโยชน์ โดยในระยะปานกลางของอีอีซี จะเห็นระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์แบบ เป็นภาคสมบูรณ์ของอีสเทิร์นซีบอร์ดที่ควรจะทำแต่ไม่ได้ทำ จะมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมใหม่ คาดว่าจะมีเงินลงทุนในอุตสาหกรรมประมาณ 5 แสนล้าน ใน 5 ปีข้างหน้า จะมีการจ้างงานราว1 แสนตำแหน่ง จะดึงฐานเอสเอ็มอีไปอยู่ในอีคอมเมิร์ชให้หมด เกิดการขยายตัวของธุรกิจบริการ และการท่องเที่ยวท่องเที่ยวในพื้นที่ที่คาดว่าจะเพิ่มประมาณเท่าตัว แผนงานของอีอีซี ยังครอบคลุมถึงการพัฒนาเมือง โดยการจัดวางระบบผังเมือง เป็นที่อยู่อาศัยที่ทันสมัยระดับสากลโดยนึกถึงรูปแบบการอยู่อาศัยที่ชีวิตมีคุณภาพ และเข้ากับวัฒนธรรมในพื้นที่ และธรรมชาติอย่างลงตัวด้วย