ดนตรี / ทิวา สาระจูฑะ คนฟังเพลงส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยสนใจคนแต่งเพลง ยังดีที่ จอห์น ไพรน์ มีฐานะศิลปินในตัวของเขาเองด้วย จึงมีคนรู้จักพอสมควร แต่ความตายของ ไพรน์ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2020 ทำให้รู้ว่าเขามีความสำคัญมากขนาดไหน การเสียชีวิตของ ไพรน์ ถูกนำเสนอจากทุกสำนักข่าวใหญ่ระดับโลก น่าจะด้วยเหตุผล 2 ประการ อย่างแรกคือ เขาเสียชีวิตด้วยผลกระทบจากการติดเชื้อ โควิด-19 ที่กำลังเป็นเรื่องสำคัญของโลกอย่างที่ไม่มีเหตุการณ์ไหนทำได้มาก่อน และอีกอย่าง ผลงานและการยอมรับในตัวเขาจากสังคมดนตรี ซึ่งสำคัญกว่าประการแรก ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม ครอบครัวของ ไพรน์ ประกาศว่า เขาติดเชื้อ โควิด-19 ซึ่งเริ่มระบาดหนักในอเมริกา ขณะที่คนอเมริกันยังไม่ตระหนักถึงความร้ายกาจและการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโรคนี้ หลายคนที่รู้จัก ไพรน์ ก็เริ่มกังวล เพราะแม้ว่าเขายังคงออกแสดงอยู่เสมอ แต่เขามีอายุ 73 ปีแล้ว และเคยมีประวัติการป่วยหนักมาก่อน ในปี 1998 ไพรน์ เข้าผ่าตัดและฉายแสงหลังจากพบเซลล์มะเร็งที่คอ การผ่าตัดครั้งนั้นทำให้คอของเขาเอียง การพูดทำได้อย่างยากลำบาก ต้องฟื้นฟูนานนับปีจนกลับมาบันทึกเสียงและออกแสดงได้ และต่อมาในปี 2013 ต้องผ่าตัดมะเร็งอีกครั้ง คราวนี้เป็นที่ปอดข้างซ้าย แต่ด้วยจิตใจที่แข็งแกร่ง เขาก็ออกทัวร์ได้อีกครั้ง แถมยังออกอัลบั้มได้อีก 2 ชุด คือ For Better, Or Worse (2016) และ The Tree of Forgiveness (2018) ไพรน์ เกิดในเมย์วูด, อิลลินอยส์ ฝึกเล่นกีตาร์ตั้งแต่อายุ 14 ช่วงสงครามเวียดนาม เคยถูกเกณฑ์เป็นทหารและถูกส่งไปประจำการที่เยอรมันตะวันตก กลับสู่อเมริกาปลายทศวรรษ 1960 ทำงานเป็นบุรุษไปรษณีย์ ขณะเดียวกันก็แต่งเพลงและร้องเพลงไปด้วย และในที่สุดก็ยึดอาชีพดนตรีเต็มตัวในชิคาโก ไพรน์ เริ่มมีชื่อเสียงในชิคาโก ซึ่งช่วงนั้นเป็นยุคฟื้นฟูเพลงโฟล์ค ต่อมาก็ได้เซ็นสัญญาและออกอัลบั้มแรก John Prine ในปี 1970 แม้จะไม่ใช่อัลบั้มขายดี แต่หลายเพลงในอัลบั้มนี้ ภายหลังถูกศิลปินอื่นๆนำไปบันทึกเสียงใหม่นับไม่ถ้วน อย่าง "Illegal Smile", "Sam Stone", "Angel from Montgomery", "Paradise" และ "Hello in There" หลังจากออกอัลบั้มของตนเองมา 6 ชุด ในปี 1981 เขาก็ปฏิเสธรูปแบบที่เป็นไปในอุตสาหกรรมแผ่นเสียง ซึ่งเขามองว่าขาดอิสระทางด้านความคิด ตั้งสังกัดเล็กๆของตนเองชื่อ โอห์ บอย เรดคอร์ดส์ ผลิตเอง ขายเอง โดยมีแฟนเพลงช่วยซื้อผลงาน และบางส่วนให้เงินมาเป็นทุนด้วย ตั้งแต่นั้นผลงานของ ไพรน์ ก็ออกในนาม โอห์ บอย เรดคอร์ดส์ ตลอดมาจนถึงชุดสุดท้าย เพลงของ ไพรน์ แหลมคมด้วยความคิด-ภาษา, มีอารมณ์ขัน, มักมีประเด็นทางสังคม และเป็นต้นแบบ ไม่เพียงมีศิลปินมากมายนำเพลงของเขาไปบันทึกเสียง ไพรน์ ยังเป็นที่รักและได้การยอมรับในฝีมือจากบรรดาศิลปินทุกรุ่นทุกวัย ตั้งแต่ คริส คริส ท็อฟเฟอร์สัน, บ็อบ ดีแลน, โจน บาเอซ, บรู๊ซ สปริงสทีน, บอนนี เรทท์, โรแซนน์ แคช, เอ็มมิลู แฮร์ริส ฯลฯ จนถึงรุ่น ซูซาน เทเดสกี, แบรนดี คาร์ไลล์, เจสัน อิสเบลล์, โบน อิแวร์, เคซี่ย์ มัสเกรฟส์ ฯลฯ ในปี 2010 ศิลปินรุ่นหลังปี 2000 ก็มาร่วมบันทึกเสียงในอัลบั้ม Broken Hearts & Dirty Windows: Songs of John Prine นอกจากนี้เขายังได้รับรางวัลเกียรติยศอีกมากมายตลอดช่วงอาชีพศิลปินบันทึกเสียงและนักแต่งเพลงที่ผ่านมา โรเจอร์ วอเทอร์ส แห่ง พิงค์ ฟลอยด์ พูดถึง จอห์น ไพรน์ ว่า “ดนตรีของเขามีความแหลมคมโน้มน้าวจิตใจเป็นพิเศษ เขาอยู่ระดับเดียวกับ จอห์น เลนนอน และ นีล ยัง” เนื้อท่อนหนึ่งของเพลง “When I Get to Heaven” จากอัลบั้มหลังสุดของเขา บอกว่า... Yeah when I get to heaven I'm gonna take that wristwatch off my arm What are you gonna do with time… เหมือนเป็นคำอาลาจาก จอห์น ไพรน์