ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย ต้องขอสดุดีความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ของไทย ซึ่งรวมบุคลากรทุกประเภทที่ร่วมแรงร่วมใจกันต่อสู้กับการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งในห้วงเวลานี้ทั่วโลกต่างก็กำลังเผชิญกับสงครามโควิด-19 กันเกือบทั่วถ้วน ขนาดสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจยังย่อยยับถอยร่น จนมีประชาชนเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ของโลก และยังไม่มีทีท่าว่าจะชะลอตัวลง ยังมีอีกหลายประเทศในยุโรปที่เคยเป็นมหาอำนาจของโลกอย่างสหราชอาณาจักร สเปน และอิตาลีก็โซซัดโซเซ ให้กับการโจมตีของโควิด-19 นี่ยังไม่ได้พูดถึงมหาอำนาจดาวรุ่งอย่างจีนนี่ก็ถึงกับทรุดเพราะโควิด-19 แม้ตอนนี้จะหยุดยั้งการรุกรานได้แล้ว แต่ก็ยังไม่อาจวางใจ ในขณะที่ยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จึงควรพิจารณาค่อยๆผ่อนคลายไม่ใช่การควบคุมเข้มงวดแล้วรอเปิดเมื่อโรคหมดไป ทั้งนี้ระบบสาธารณสุขไทยสามารถต้านทานการรุกของโควิด-19 ได้ชนิดที่ใช้เวลาอันสั้นและบอบซ้ำไม่มากนักเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้ว ทว่าประเทศไทยเป็นประเทศเล็กและไม่ร่ำรวยการซวดเซและทรุดตัวทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ทำให้จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ความจริงเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นประเทศใหญ่ประเทศเล็กก็มิใช่จะมีงบประมาณ หรือทรัพยากรไม่จำกัด ดังนั้นจึงต้องใช้อย่างมีประสิทธิภาพและชาญฉลาด จากประสบการณ์ที่ผ่านมาจะพบว่าภาคชนบทไทยนั้นกลับมีประสิทธิภาพในการช่วยยับยั้งโควิด-19 ได้อย่างดี ทั้งนี้เพราะต่างมีจิตสำนึกและตระหนักรู้ของการระงับภัยร่วมกัน ความที่ในแต่ละพื้นที่เขารู้จักกันทั่วถ้วน จึงคอยเป็นหูเป็นตาช่วยกันสอดส่องระมัดระวัง ที่เคยวิตกว่าช่วงสงกรานต์นี้จะมีคนแห่กลับบ้าน แม้ทางรัฐบาลจะมีมาตรการที่จะควบคุม แต่ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนก็คงยากยับยั้ง การกลับปรากฏว่าในภาคชนบทนี่แหละได้ให้ความร่วมมืออย่างสูง โดยบอกกล่าวไปยังลูกหลานว่าไม่ต้องกลับมาบ้าน และถ้ากลับมาก็จะต้องถูกกักตัว 14 วัน ตามมาตรฐานเฝ้าระวังโควิด-19 นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ส่วนอีกตัวอย่างก็คือความเข้มแข็งของอสม.ที่คอยเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวัง ร่วมกับกำนันและผู้ใหญ่บ้านในหลายๆพื้นที่ อย่างไรก็ตามต้องตระหนักว่าโควิด-19 จะไม่ลดลงเหลือศูนย์ได้โดยง่าย อาจใช้เวลาหลายปี โดยเชื้อไม่หมดไปแต่รอแฝงตัวเพื่อออกมาอาละวาดอีกได้ทุกเมื่อ แม้มีวัคซีนหรือหลายคนมีภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติก็ตาม เราก็คงไม่อาจดำเนินชีวิตได้แบบเดิมอีกแล้ว ถ้าโควิด-19 ไม่มา ก็อาจมีโรคอื่นระบาดอีก เพราะมันเป็นแรงตอบสนองจากธรรมชาติ จึงไม่อาจรอจนโควิด-19 หมดไปโดยสิ้นเชิง แต่เริ่มกิจกรรมเมื่อมันชะลอดตัว ดังนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีการวางแผนล่วงหน้าที่จะฟื้นฟูประเทศ และลืมเรื่องยุทธศาสตร์ 20 ปีไปเลย เพราะไม่มีใครรู้ว่าภายใน 20 ปีนี้ โลกจะเปลี่ยนแปลงทั้งจากภัยธรรมชาติ และการพัฒนาของเทคโนโลยีไปอีกกี่ตลบ ประเด็นแรกที่สำคัญสุดคือ การดำเนินการอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่จะเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายของรัฐบาลและผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อม การเยียวยานี้ควรจะเป็นลักษณะทู-เวส์ (Two ways) นั่นคือรัฐบาลควรจัดระบบให้ประชาชนมีสิทธิตรวจสอบข้อวินิจฉัยของรัฐบาลในการช่วยเหลือได้ ไม่ใช่รออุทธรณ์ แต่ระบบดังกล่าวถ้าเรามีการจัดวางไว้ล่วงหน้า เช่น ระบบ Big Data และบล๊อกเชน (Block Chain) มันก็ทำได้ทันที หากมาเริ่มตอนนี้ก็คงอีกนานไม่ทันการช่วยเหลือคนที่เขาเดือดร้อนจะอดตาย ดังนั้นการช่วยเหลือจึงควรเปิดกว้างให้ถ้วนทั่วทุกคน หรืออาจจะแบ่งเส้นด้วยรายได้ ซึ่งเรามีข้อมูลการเสียภาษีอยู่แล้ว ส่วนพวกที่ไม่มีข้อมูลภาษีก็ต้องอนุโลมถือว่าไม่มีรายได้และช่วยเหลือด้วย เขียนอย่างนี้ก็จะมีคนที่เป็นโรควิตกจริต ท้วงติงใน 2 ลักษณะ คือ ประเด็นแรกกลัวว่าต้องใช้เงินมาก และจะเป็นภาระภาษีในอนาคตกับเกรงว่าจะมีการรั่วไหล เงินไปตกกับคนที่ไม่สมควรได้รับ ทั้ง 2 ประการก็ควรวิตกแต่ขอบอกว่าถ้าไม่เร่งฟื้นฟูในเวลานี้ ปล่อยให้ระดับรากหญ้า หรือคนชั้นกลางล้มระเนระนาดแล้วอย่าหวังว่าจะโงหัวได้รวดเร็วในอนาครอันใกล้เลย เพราะพลังการใช้จ่ายในการบริโภคของประชาชนส่วนใหญ่จะหดหายไปอย่างมาก เอาแค่คนตกงานที่ประเมินว่ามีประมาณ 7-10 ล้านคน ยังไม่นับอาชีพอิสระอีกเป็น 10 ล้าน เมื่อกำลังซื้อลดธุรกิจก็จะพลอยเจ็งไปด้วย โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก และการบริการอีกหลายอย่าง ส่วนเรื่องการรั่วไหลก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรกังวลเอาคนส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งช่วยคนเดือดร้อน 98 คน ช่วยคนที่ไม่สมควร 2 คน ก็ยังคุ้ม เพราะถ้ามัวตรวจสอบอย่างละเอียดกว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ แต่ก็มิได้หมายความว่าไม่ต้องตรวจสอบเลย อย่างข้อเสนอของสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านก็น่าสนใจสำคัญอย่าให้เกิดระบบหัวคิวก็แล้วกัน ผู้เขียนเคยเสนอให้พิจารณาเพิ่มเติมนอกจากจ่ายเงินเยียวยาให้บุคคลโดยตรงแล้ว ยังควรเพิ่มเติมด้วยการอัดฉีดเงินลงไปยังกองทุนหมู่บ้านแห่งละ 20 ล้าน มันก็ประมาณ 140,000 ล้านบาท และให้จังหวัด อำเภอ ธกส. ร่วมกันไปตรวจสอบ หรือจะใช้มาตรการอื่นๆประกอบเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้และการจ้างงานในพื้นที่ก็ได้ งานนี้มีคนท้วงติงมาว่ากองทุนหมู่บ้านเป็น NPL เกือบทั้งหมด ซึ่งผู้เขียนก็แย้งว่าเพราะเราไม่มีมาตรการตรวจสอบติดตามต่างหาก ด้วยเคยมีประสบการณ์ในด้านนี้พอเราไปติดตามก็นำมาใช้คืนเป็นแถวไม่น่ากังวลมาก แต่ถ้าใช้ช่องทางนี้เสริมจะทำให้เกิดการกระจายรายได้รวดเร็วทั่วถึง และเป็นการสรรค์สร้างให้ชาวบ้านรู้จักคิด รู้จักพัฒนากันเอง ซึ่งจากการตระหนักรู้ของชาวบ้านนี่ก็ได้ประจักษ์ชัดในการมีบทบาทต่อต้านการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในขณะนี้อยู่แล้ว ด้วยจุดแข็งของประเทศโดยในเรื่องความสามารถทางการแพทย์ คุณภาพของบุคลากรทางการแพทย์ และระบบสาธารณสุขที่ดีพอเพียง ทำให้ชื่อเสียงของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับมากขึ้น จึงใคร่ขอเสนอให้รัฐบาลหันมาปรับแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เน้นปริมาณ มาเป็นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ เป็นมาตรการเปิดประเทศ เช่น การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์กับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กล่าวถือ การท่องเที่ยวเชิงการแทพย์เน้นการรักษาความเจ็บป่วยและการแก้ไขให้มีสุขภาพดีขึ้น แต่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเน้นการสร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มสมรรถภาพซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยในอีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ความแตกต่างอีกด้านคือ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ มีความจำเพาะและขึ้นกับขีดความสามารถและความจำเป็นทางการแทพย์เป็นหลัก ทำให้ต้องเพิ่มพิเศษจากชีวิตประจำวัน ขณะที่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสามารถจัดการให้ผสมกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันได้ เรื่องความสามารถทางการแพทย์ของไทยนั้น จัดว่าอยู่ในอันดับต้นๆของมาตรฐานโลกทีเดียว แถมอัตราค่าบริการยังย่อมเยาว์กว่าสำหรับคนต่างชาติที่มีรายได้สูง ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนั้นเราก็อาจประยุกต์กับหลักโภชนาการ อาหารเพื่อสุขภาพ และสมุนไพรที่ประเทศไทยเรามีอย่างอุดมสมบูรณ์ สุดท้ายไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ผลิตอาหารเกินการบริโภคภายใน จึงควรเน้นการหารายได้ทางด้านนี้ ซึ่งอาจเน้นเรื่องคุณภาพ เช่น พวกออร์แกนนิค หรือเลือกส่วนลูกค้าที่มีรายได้สูง ที่สำคัญต้องจัดระบบและโครงสร้างตลาดไม่ให้มีการผูกขาดอันทำให้เกษตรกรต้องถูกเอารัดเอาเปรียบเหมือนที่ผ่านมา จังหวะนี้เป็นจังหวะที่ดีเริ่มวางแผนแค่ 3 ปี -5 ปี ก็พอไม่ต้องไปฝันถึง 20 ปีหรอก ขอให้ทำอย่างจริงจัง และจัดสรรงบสนับสนุนอย่างเหมาะสม ส่วนงบการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์น่ะขอให้ชะลอไปก่อน จนเศรษฐกิจเราดีพอแล้วค่อยมาพิจารณากัน โครงการอภิมหาโปรเจกต์อย่าง EEC ก็ควรชะลอด้วย มิฉะนั้นคนไข้จะตายเสียก่อน