กรมชลประทาน เผยสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หลายแห่งมีน้ำใช้การได้น้อย ขอประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด จนกว่าจะมีฝนตกชุกและน้ำในแหล่งน้ำต่างๆมีเพียงพอ พร้อมเดินหน้ารับมือฤดูฝนปี 63 เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน (15 เม.ย.63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 36,767 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 13,072 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,951 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 36 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 2,255 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ปัจจุบัน (15 เม.ย.63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 15,647 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 88 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,202 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 93 ของแผนจัดสรรน้ำฯ ที่วางไว้ สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ มี 24 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนแม่มอก เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแชะ เขื่อนลำนางรอง เขื่อนสิรินธร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนทับเสลา เขื่อนกระเสียว เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนคลองสียัด เขื่อนบางพระ เขื่อนหนองปลาไหล และเขื่อนประแสร์ แม้ในระยะนี้จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยทางตอนบนมีฝนตกหลายพื้นที่ แต่ปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างฯ ยังมีไม่มากนัก จึงขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด และขอให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน อนึ่ง การบริหารจัดการน้ำและเตรียมความพร้อมรับฤดูฝน ปี 2563 ที่กำลังจะมาถึงในเดือนหน้านั้น กรมชลประทาน ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย พร้อมกำชับให้โครงการชลประทานทุกแห่งทั่วประเทศ ตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อน อาคารชลประทานและระบบชลประทาน จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือให้พร้อมออกปฏิบัติงานได้ตลอดเวลา อีกทั้งยังวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูฝน โดยปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ 265,000 ไร่ ให้เพาะปลูกเร็วขึ้น เพื่อใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหลาก นอกจากนี้ ยังให้ตรวจสอบและกำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อให้น้ำไหลได้สะดวกตามการจัดจราจรน้ำ และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง