สถานการณ์ที่ไข่ไก่หายไปจากตลาดเมื่อช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา วันนี้กลับสู่ภาวะปกติ เหตุการณ์ต่างๆเริ่มคลี่คลายลงเพราะคนเริ่มคลายกังวลและปรับตัวได้กับมาตรการของภาครัฐในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมทั้งผู้ค้าที่เลิกกักตุนสินค้าไว้เก็งกำไร เนื่องจากภาครัฐเร่งตรวจสอบและจับกุมผู้กระทำผิดจำหน่ายไข่ไก่เกินราคาทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ปัญหาการขายไข่ราคาสูงเกินจริงจึงลดลง ประกอบกับผู้เลี้ยงไก่ไข่ก็ให้ความร่วมมือในการยืดอายุการเลี้ยงแม่ไก่ไข่ออกไปจากเดิม 80 สัปดาห์ ออกไปตามความเหมาะสม ทำให้มีปริมาณไข่ไก่เข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น ทำให้สถานการณ์เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ที่สำคัญในส่วนของผู้บริโภค พบว่ามีการซื้อไข่ไก่ลดลง เพราะปริมาณไข่ที่เคยซื้อสต๊อกไว้ก่อนหน้านี้ยังคงมีอยู่ ทั้งนี้ คุณสังวาลย์ สยาม นักวิชาการอิสระ มองว่า สถานการณ์เช่นนี้ทำให้เกษตรกรเริ่มวิตกกังวลว่า การที่ภาวะไข่ไก่กลับสู่ปกติ แต่มาตรการที่กระทรวงพาณิชย์ห้ามส่งออกไข่ไก่ไปต่างประเทศนาน 30 วัน จนถึงวันที่ 30 เมษายนนี้ ยังคงเดินหน้าต่อ เท่ากับประเทศไทยเสี่ยงต่อภาวะไข่ไก่ล้นตลาด เพราะมาตรการนี้ส่งผลให้มีไข่เหลือในประเทศจากการที่ไม่ได้ส่งออกมากกว่า 1 ล้านฟองต่อวัน เมื่อรวมกับไข่ไก่ที่เพิ่มขึ้นจากการยืดอายุปลดแม่ไก่ยืนกรงที่กำลังทำอยู่ ซึ่งคาดว่าจะมีแม่ไก่ที่ให้ผลผลิตเพิ่มถึง 1 ล้านตัวต่อสัปดาห์ ก็ทำให้มีผลผลิตไข่ไก่เข้าสู่ตลาดเพิ่มเข้าไปอีกประมาณ 8-9 แสนฟองต่อวัน ในทุกๆวัน ในขณะที่ผู้บริโภคกลับมาทานไข่เท่าเดิม เท่ากับว่า ปริมาณผลผลิตไข่ไก่ที่ป้อนตลาด 40-41 ล้านฟองต่อวัน แต่มีการบริโภคเพียง 39-40 ล้านฟอง จึงมีไข่คงเหลือในระบบ 1–2 ล้านฟองต่อวัน ปริมาณคงเหลือเช่นนี้ ทำให้ความเสี่ยงที่ไข่ไก่จะล้นตลาดก็ยิ่งเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะเมื่อคำนวณจนถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ คาดว่าจะมีแม่ไก่ยืนกรงทั้งประเทศถึง 53 ล้านตัว ให้ผลผลิตมากถึง 44 ล้านฟองต่อวัน สิ่งที่แทบไม่ต้องเดาเลยเคย ไข่ไก่จะต้องล้นตลาดแน่นอน จึงไม่น่าแปลกใจที่เกษตรกรเริ่มร้อนๆหนาวๆกลัวจะซ้ำรอยเดิมที่ต้องแบกรับภาระขาดทุนมานานถึง 10 ปี ที่กว่าจะแก้ปัญหากันได้ จนราคามีเสถียรภาพได้เพียงปีเดียวก็ต้องกลับไปวังวนเก่า ที่ยังไม่รู้ว่าจะสามารถบูรณาการและร่วมกันแก้ปัญหาได้สำเร็จอย่างที่เคยทำมาหรือไม่ เมื่อย้อนกลับไปดูการแก้ปัญหาราคาไข่ไก่ ที่ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมไข่ไก่ดำเนินการกันมาก่อนหน้านี้ จะเห็นได้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายกว่าที่ราคาไข่ไก่จะมีเสถียรภาพ พอให้เกษตรกรพอมีกำไรนำเงินไปจ่ายหนี้สะสมหรือต่อยอดอาชีพต่อ ตาราง : การผลิตไข่ไก่ปี 2560-2562 (ข้อมูล : กรมปศุสัตว์, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) เริ่มตั้งแต่การที่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่รวมตัวกันร้องเรียนต่อ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ว่าราคาไข่ไก่ตกต่ำเกษตรกรต้องประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง จนไม่สามารถทำอาชีพนี้ต่อไปได้ จึงขอให้ภาครัฐ โดยคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ให้เงินช่วยเหลือดังเช่นทุกปีที่ผ่านมา แต่เวลานั้นคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือเอ้กบอร์ด (Egg board) ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลอุตสาหกรรมไข่ไก่ทั้งระบบ มีมติร่วมกันว่าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้แบบบูรณาการโดยไม่ใช้เงินของรัฐบาล แต่จะอาศัยความร่วมมือของภาคส่วนผู้ผลิตโดยเฉพาะ 16 บริษัทผู้เลี้ยงไก่ไข่ปู่ย่าพันธุ์และพ่อแม่พันธุ์ ในการกำหนดแผนการเลี้ยงไก่ของปี 2560 โดยลดปริมาณพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ลง ควบคู่กับการลดปริมาณแม่ไก่ยืนกรงลง 2 ล้านตัว แต่ราคาไข่ไก่ก็ยังคงไม่มีเสถียรภาพ เกษตรกรต้องขาดทุนต่อเนื่อง ในปี 2561 กรมปศุสัตว์ในฐานะเลขาฯเอ้กบอร์ด จึงทำการปรับสมดุลดีมานด์-ซัพพลายไข่ไก่ทั้งระบบ โดยใช้หลักการผลิตนำการตลาด เพื่อดำเนินโครงการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ปี 2561 อย่างเป็นระบบ ทั้งการปรับลดพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ รวม 2 ครั้งจำนวน 195,173 ตัว ควบคู่กับการปรับลดแม่ไก่ไข่ยืนกรงรวม 3 ครั้ง จำนวน 4,805,000 ตัว ขณะเดียวกันยังขอความร่วมมือผู้ประกอบการรายใหญ่ร่วมกันส่งออกไข่ไก่เพื่อรักษาสมดุลปริมาณไข่ในประเทศ 3 ครั้ง รวม 98 ล้านฟอง ความร่วมมือร่วมใจของทั้งภาครัฐ สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ในฐานะตัวแทนของเกษตรกร ภาคเอกชน และเกษตรกรทั่วประเทศ ทำให้ภาวะราคาไข่ไก่เริ่มปรับตัวดีขึ้นมาบ้าง ราคาขยับเข้าใกล้กับต้นทุน แม้จะยังขาดทุนอยู่ 0.30 ต่อฟองก็ตาม จนมาปี 2562 ที่ถือเป็นปีแห่งความร่วมมือของคนในวงการไข่ เพื่อแก้ปัญหาไข่ไก่อย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่การกำหนดแผนการเลี้ยงปู่ย่าพันธุ์ที่ 3,800 ตัว และเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ 460,000 ตัว พร้อมกับปรับลดแม่ไก่ไข่ยืนกรงลงอีก 3,101,369 ตัว และขอความร่วมมือผู้ประกอบการรายใหญ่ร่วมกันส่งออกไข่ไก่ที่ล้นตลาดไปต่างประเทศรวม 188 ล้านฟอง โดยต้องยอมขายขาดทุนเพื่อสู้กับคู่แข่งสำคัญทั้งจีนและสหรัฐฯ ในตลาดฮ่องกงซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยได้ ความร่วมมือทั้งหมดนี้ทำให้ปริมาณไข่ไก่ทั้งประเทศ ลดลงจาก 56.67 ล้านฟองต่อวัน เหลือ 40-41 ล้านฟองต่อวัน เกษตรกรสามารถขายไข่ไก่คละหน้าฟาร์มได้เกินต้นทุนเฉลี่ยฟองละ 0.11 บาท เป็นครั้งแรก จากปริมาณผลผลิตไขไก่ที่สมดุลกับการบริโภคในประเทศนั่นเอง ทั้งหมดนี้คือความพยายามตลอด 2 ปี ที่เพิ่งจะเห็นผลเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่แล้วอุตสาหกรรมไก่ไข่ต้องมาติดบ่วง จากภาวะดีมานด์เทียมในช่วงโควิด-19 เกษตรกรต้องรับกรรมต่อจากนี้ หากเป็นดังที่คาดการณ์ไว้ว่าจะมีให้ผลผลิตไข่ออกสู่ตลาดมากถึง 44 ล้านฟองต่อวัน วันนั้นคงไม่แคล้วที่เกษตรกรต้องจับมือกันแก้ปัญหาเองอย่างที่เคยเป็นมาอีกครั้ง