ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล ทีมโฆษกพรรคก้าวไกล นำโดย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรค นายณัฐชา บุญไชยอินทร์สวัสดิ์ น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา และนายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม โดยนายสุพร อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับเรื่องร้องเรียน นายวิโรจน์ กล่าวว่า การเปิดให้ประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000บาท เป็นเวลา 3เดือน ให้ประชาชน8 ล้านคนผ่านเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน.com ของกระทรวงการคลัง และใช้ระบบ AI ตรวจคัดกรองผู้มีคุณสมบัตินั้น พรรคก้าวไกลได้ท้วงติงและมีข้อเสนอรัฐบาลตั้งแต่ต้นว่าควรจะช่วยเหลือเยียวยาแรงงานนอกระบบทั้งหมดแบบถ้วนหน้า ทั้งที่อยู่ในระบบประกันตนมาตรา 39 มาตรา40 ซึ่งว่างงานอยู่ประมาณ 14.5 ล้านคน โดยเทียบเคียงกับกรณีที่การท่าอากาศยานไทย มีมติช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการในการท่าอากาศยานฯถึงปี 2565 ทำให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้รับประโยชน์ ขณะที่การท่าอาจสูญเสียกำไรถึง 22,536ล้านบาท ทั้งที่ขณะนั้นสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่รุนแรงเท่ากับปัจจุบัน แต่ไม่ได้รับการตอบรับ นายวิโรจน์ กล่าวว่า และเมื่อเปิดลงทะเบียนพบว่าการตรวจคัดกรองความเดือดร้อนของประชาชนโดยใช้ระบบที่มีความซับซ้อน ซึ่งประชาชนบางส่วนอาจไม่คุ้นกับเทคโนโลยีและเข้าไม่ถึงการลงทะเบียนของรัฐจนเสียสิทธิ์ไป ที่สำคัญได้กำหนดหลักเกณฑ์การคัดกรองโดยตัดบางอาชีพที่ได้รับผลกระทบจริงออกไปจำกัดวงให้เหลือเพียง 8 ล้านคน ทำให้แรงงานนอกระบบอีก 6.5 ล้านคนถูกทอดทิ้ง และล่าสุดมีผู้ลงทะเบียน 27ล้านคน คัดกรองไปได้ 7.99ล้านคน มีคนที่ผ่านเกณฑ์เพียง 1.6 8ล้านคน และยังต้องกรอกข้อมูลเพิ่มเติมอีก 1.53ล้านคน และประชาชนที่ไม่ผ่านถึง 4.78คน ทั้งที่กรอกข้อมูลตามความเป็นจริงแต่ถูกระบุว่าไม่เข้าเกณฑ์ซึ่งทั้งหมดพิสูจน์ให้เห็นว่ากระบวนการประสบความล้มเหลวทั้งที่ประชาชนต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ดังนั้นหากรัฐบาลยังยืนยันที่จะดำเนินมาตรการดังกล่าวจะเป็นการซ้ำเติมประชาชนในช่วงเวลาที่ต้องการความช่วยเหลือ นายวิโรจน์ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนแนวทางดำเนินมาตรการช่วยเหลือประชาชนในกลุ่มอื่นๆให้ครอบคลุม ดังนี้ 1.ให้รัฐบาลเปลี่ยนความคิดว่าเป็นเจ้าของเงิน ที่ต้องนำมาบริจาคให้กับประชาชน เป็นรัฐบาลคือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากประชาชนให้จัดสรรงบประมาณมาช่วยเหลือเยียวยาให้เกิดประโยชน์กับประชาชน 2.ให้รัฐบาลยกเลิกกระบวนการพิสูจน์ความทุกข์ของประชาชน ยกเลิกเกณฑ์อาชีพเดิมที่ปฏิเสธช่วยเหลือ เพื่อให้แรงงานนอกระบบได้รับเงินโดยเร็ว เพราะหากเยียวยารายละ 5,000บาทให้กับรายงาน 14.5 ล้านคนเป็นเวลา3เดือนจะใช้งบประมาณ 217,500 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในวิสัยที่รัฐบาลสามารถจัดสรรได้ 3.ให้รัฐบาลเยียวยาแรงงานในระบบประกันสังคมที่มีอยู่ประมาณ 12ล้านคน ที่ประสบปัญหารายได้ เนื่องจากถูกลดเงินเดือน ถูกสั่งให้หยุดงานในบางวันจ่ายค่าแรงบางส่วน หรือลดชั่วโมงทำงานล่วงเวลา รวมทั้งเยียวยาแรงงานนอกระบบภาคเกษตรที่มีประมาณ 11.5 ล้านคนด้วย และ4.ขอให้รัฐบาลเตรียมมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเก็บตกสำหรับกลุ่มประชาชนที่เข้าไม่ถึงระบบการลงทะเบียนออนไลน์ให้สามารถลงทะเบียนกับเจ้ากน้าที่ได้ พร้อมจัดหาสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต เช่นศูนย์พักพิงศูนย์กักกันโรคสิ่งของบริโภคและสิ่งของจำเป็นตามที่รัฐบาลบอกไว้ว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อย่างไรก็ตามสมาชิกพรรคก้าวไกลจะลงพื้นที่เก็บข้อมูลความเดือดร้อนของประชาชนในส่วนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเยียวยาโดยได้เปิดเว็บไซต์ www.ทำไมไม่ได้ 5พัน.com เพื่อรับเรื่องร้องเรียนและนำเข้าสู่กระบวนการกลไกของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเป็นปากเสียงให้กับประชาชนได้รับสิทธิ์อันชอบธรรม