วันที่ 14 เมษายน 2563 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และบริษัท ไทยลีก จำกัด จัดการประชุมร่วมกับ ตัวแทนจากสโมสรฟุตบอลไทยลีก 1 และไทยลีก 2 เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ การแข่งขันฟุตบอลไทยลีก หลังเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 2019 หรือ Covid-19 ภายหลังการประชุม พล.ต.อ. ดร. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ กล่าวว่า การประชุมวันนี้ได้จัดสถานที่เพื่อให้เราได้ประชุมกัน บนแนวทางคำแนะนำของกระทรวงสาธารณะสุข social distancing ซึ่งประเด็นหลัก เรื่องแรก คือ เรื่องการกำหนดวันที่จะมีการจัดการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกขึ้น เรามีโจทย์ที่ต้องมาหารือร่วมกันว่าจำเป็นหรือไม่ว่าจะต้องจัดให้มีการจัดการแข่งขันให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ สำหรับฟุตบอลลีกฤดูกาล 2020 เนื่องจากจะมีผลกระทบจากจำนวนแมตช์การแข่งขันที่ถี่มาก เฉลี่ย 3 วันต่อแมตช์ ภายใต้เงื่อนไขคือกลับมาแข่งขันภายในเดือนสิงหาคม สำหรับประเด็นนี้ที่ประชุมมีมติร่วมกันว่า ถ้าสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ไม่เลวร้ายไปกว่านี้ หรือมีทิศทางในทางที่ดีขึ้น ก็น่าจะกลับมาจัดการแข่งขันได้ในเดือนกันยายน 2563 และไปจบสิ้นในเดือนพฤษภาคม 2564 ขณะที่การแข่งขันฟุตบอลถ้วยรายการอื่นๆ จะยังคงจัดการแข่งขันเหมือนเดิม โดยจะมีการปรับช่วงเวลาเปิดตลาดซื้อขายใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการกลับมาเริ่มแข่งขันในเดือนกันยายน ส่วนจะนับคะแนนรวมที่มีการแข่งขันทั้ง 4 แมตช์มาแล้วหรือไม่ สโมสรในไทยลีก 1 จะทำหนังสือแจ้งแนวทางที่แต่ละทีมต้องการมาให้สมาคมฯ ภายในวันที่ 22 เมษายนนี้ เพื่อพิจารณา เรื่องที่ 2 คือ แนวทางการปฏิบัติที่ฟีฟ่า ที่แจ้งต่อสโมสรสมาชิกเพื่อป้องกันกรณีการเกิดข้อพิพาทในเรื่องของสัญญากับนักกีฬา ฟีฟ่าแนะนำให้สโมสรกลับไปเจรจาเรื่องค่าตอบแทนเพื่อให้สโมสรอยู่รอดในช่วงวิกฤต และสามารถรักษาสภาพคล่องทางการเงิน จนถึงเวลากลับมาแข่งขันอีกครั้งหนึ่งโดยประเด็นนี้ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ ว่า ทุกสโมสรจะกลับไปเจรจาลดค่าตอบแทนบุคลากร ทั้งนักกีฬา ผู้ฝึกสอน ในอัตรา 50% หรือ ครึ่งหนึ่ง เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งลีก "ในส่วนของสมาคมฯ จะดำเนินการทำหนังสือแจ้งไปยังฟีฟ่าเกี่ยวกับมติในที่ประชุม รวมทั้งเหตุผลที่ต้องลดค่าตอบแทนด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นเหตุให้สโมสรทุกสโมสร มีความจำเป็นที่จะต้องเจรจาลดค่าใช้จ่ายค่าตอบแทน บุคลากรทางกีฬาลงครึ่งหนึ่ง เพื่อให้ฟีฟ่าได้รับทราบและวันข้างหน้า หากเกิดกรณีข้อพิพาทระหว่างสโมสรกับบุคลากรกีฬาเกิดขึ้น ก็หมายความว่า สโมสรได้พยายามที่จะเจรจาให้สอดคล้องกับนโยบายของฟีฟ่า" เรื่องที่ 3 คือ จากผลกระทบจากไวรัสโควิด 2019 จึงเป็นที่มาของการปรับปรุงโครงสร้างการจัดการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกเสียใหม่ ที่เหมือนกับในลีกประเทศยุโรป คือ ในแข่งขันในฤดูกาล 2021 จะเปิดฤดูกาลในช่วงเดือนกันยายน และ ปิดฤดูกาลในช่วงเดือน พฤษภาคม ก็ถือว่าได้ใช้วิกฤติของการแพร่ระบาดโควิด ปรับเปลี่ยนปฏิทินการแข่งขันใหม่ ทำให้การแข่งขันฟุตบอลลีกของไทยนั้น ไม่ไปทับกับฤดูฝนซึ่งในการแข่งขันที่ผ่านมาในช่วงฤดูฝนนั้นส่งผลกระทบกับฟุตบอลมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นแฟนบอลที่จะเข้าไปชมในสนาม การเดินทาง สภาพสนาม ตลอดจนอาการบาดเจ็บของนักกีฬาที่แข่งกันในฤดูฝน อันเกิดจากสภาพสนามที่ไม่ดี ภูมิอากาศในช่วงนั้นที่แฟนบอลก็ไม่เข้าสนาม เป็นเหตุให้จำนวนผู้เข้าชมน้อยลง รวมถึงการเปิดตลาดซื้อขายนักเตะจะตรงกับลีกชั้นนำของโลกด้วย "ถ้าไปแข่งในช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่ทุกอย่างน่าจะเอื้อประโยชน์กับการเข้าชมของแฟนบอลและการเดินทางที่มีความปลอดภัย" ขณะที่เรื่องเงินสนับสนุนจากทรูวิชั่นส์ ที่จะต้องจ่าย เดือนกรกฎาคม ตอนนี้ยังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ เนื่องจากยังไม่ได้กลับมาแข่งขัน ซึ่งได้มีการพูดคุยกัน โดยรัฐมนตรีฯได้รับทราบถึงความเดือดร้อนของทีมสโมสรในไทยลีก เกี่ยวกับเรื่องสภาพทางการเงิน ซึ่งรัฐมนตรีจะไปดำเนินการหาช่องทางเยียวยา โดยการร้องขอเงินสนับสนุนจากการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ แนวทางการนำเงินจากกองทุนกีฬาอาชีพ เพื่อแก้ปัญหาและเยียวยาให้กับสโมสร "ในส่วนของเรื่องผู้สนับสนุนนั้น ทั้งสมาคมฯเองและสโมสรคงได้รับผลกระทบกันทั้งหมด ซึ่งคงต้องมีการเจรจากันเพื่อเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อให้วงการฟุตบอลไทยเดินหน้าต่อไปได้" อย่างไรก็ตามการประชุมครั้งนี้เป็นเรื่องที่ดี ที่สโมสรสมาชิกได้แสดงความคิดเห็น และทำให้เกิดประโยชน์กับวงการกีฬาฟุตบอลไทย ทำให้เห็นว่าได้พยายามเมื่ออยู่ในภาวะที่ยากลำบาก หรือได้รับผลกระทบด้วยกัน ทุกทีมก็หันหน้าเข้าหากัน คุยกันด้วยเหตุและผล ไม่มีใครที่จะมีความคิดเห็นที่แตกแยกออกไป ทุกสโมสรมีมติไปในทิศทางเดียวกัน