บล.โกลเบล็ก ชี้หุ้นไทยผันผวนต่อ นักลงทุนเทหุ้น Big Cap หลังปรับตัวขึ้นแรงในช่วงที่ผ่านมา และผลการประชุมโอเปกพลัสไม่หนุน แถมโกลด์แมน แซคส์คาดราคาน้ำมันร่วงอีก เพราะการลดกำลังผลิตที่น้อยเกินไป เมื่อเทียบกับตัวเลขสต๊อกน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงสวนทางกับความต้องการใช้ และล่าสุด IMF คาดการณ์การระบาดไวรัส COVID-19 ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกเลวร้ายลงไปอีก จึงให้กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนี 1,230-1,300 จุด ส่วนกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการแจกอินเทอร์เน็ตฟรี น.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยยังคงผันผวนต่อ โดยอาจมีแรงขายทำกำไรในหุ้นกลุ่ม Big Cap หลังปรับตัวขึ้นแรงในสัปดาห์ก่อน ขณะที่ราคาน้ำมันยังคงผันผวนต่อเนื่อง แม้ว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) จะสามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตเหลือ 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งมีผล 1 พ.ค.ถึงสิ้นเดือน มิ.ย.63 ลดจาก 10 ล้านบาร์เรล/วันจากการประชุมวันแรก ส่งผลให้โกลด์แมน แซคส์คาดราคาน้ำมันดิบจะร่วงลงอีกเนื่องจากลดปริมาณกำลังการผลิตน้อยเกินไปไม่มากพอที่จะช่วยชดเชยผลกระทบของ ดีมานด์น้ำมันที่ทรุดตัวลงอย่างหนัก เนื่องจากสต็อกน้ำมันยังคงปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกมาคาดการณ์ว่า การระบาดของไวรัส COVID-19 จะทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เลวร้ายที่สุด ดังนั้นจึงคาดว่าดัชนีดัชนีตลาดหุ้นไทยจะมีการเคลื่อนไหวในกรอบ 1,230-1,300 จุด ส่วนสถานการณ์ที่ยังคงต้องจับตาในขณะนี้อาทิ การเปิดเผยยอดค้าปลีกเดือนมีนาคมของสหรัฐฯ รวมทั้งดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index)ในเดือนเม.ย.จากเฟดนิวยอร์ก และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค. ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนเม.ย. สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนก.พ. สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ในวันที่ 15 เม.ย. ส่วนรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะรู้ผลในเช้าวันที่ 16 เม.ย. และในวันเดียวกันนี้จีนจะเปิดเผยดัชนีราคาบ้านเดือนมี.ค. เช่นเดียวกับอียู จะมีการเปิดเผยตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ. ขณะเดียวกันทางสหรัฐฯจะเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนมี.ค. และดัชนีการผลิตเดือนเม.ย.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย สุดท้ายวันที่ 17 เม.ย.ทางจีนจะเปิดเผยตัวเลข GDP ในไตรมาส 1/2563 ทั้งในส่วนของตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีกและการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร อียูเปิดเผยอัตราเงินเฟ้อและสหรัฐเปิดเผยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในเดือนมี.ค.ซึ่งจะเป็นตัวเลขที่มีการสะท้อนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้มากขึ้น “ตลาดหุ้นไทยตอบรับปัจจัยบวกจากสถานการณ์ของผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 รายใหม่ในประเทศไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมาต่ำกว่า 100 รายต่อวันเป็นสัญญาณที่ดี และการจัดตั้งกองทุน Corporate Bond Stabilization Fund (BSF) วงเงินกว่า 4 แสนล้านบาทที่จัดตั้งโดยธนาคารแห่งประเทศไทยช่วยเสริมสภาพคล่องและสร้างความเชื่อมั่นในตลาดตราสารหนี้และตลาดการเงินโดยรวมเพียงแค่ระยะสั้นเท่านั้น เพราะปัจจัยลบยังไม่คลีคลาย” ด้านนายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก มองกลยุทธ์การลงทุนในขณะนี้ โดยแนะนำลงทุนหุ้นได้ประโยชน์จากการมาตรการแจกอินเทอร์เน็ตฟรี 30 วัน อาทิ ADVANC, DTAC, TRUE และ JAS ส่วนราคาทองคำ ประเมินว่า ราคาทองคำปรับตัวลง 78 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ ในสัปดาห์ก่อนปรับตัวขึ้นแรงหลังจากเฟดประกาศอัดฉีดเงินกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เพิ่มเติม นอกจากนี้กองทุน SPDR กลับเข้ามาซื้อทองคำกว่า 15.2 ตัน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐทั้งยอดผู้ขอรับสวัสดิการอ่อนแอลงหนุนราคาทองคำเพิ่มเติม โดยปัจจัยหลักที่หนุนทองคำคือ เฟด ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งรวมถึงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในวงเงินไม่จำกัด มองกรอบทองคำสัปดาห์นี้ที่ 1,680-1,750 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ หรือคิดเป็นทองคำไทย 25,560-26,750 บาทต่อบาททองคำ