"นายกฯ" ประชุมศบค.ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 63 สั่งการ "มหาดไทย"พิจารณามาตรการผ่อนคลาย ร้านตัดผม ให้บันทึกเหตุการณ์โควิดในหอจดหมายเหตุเพื่อประโยชน์ในอนาคต วันที่ 13เม.ย.63 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี และที่ประชุมได้ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2563 ว่า จากสถานการณ์ทั่วโลกคงจะประสบปัญหาต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องกำหนดนโยบายในการแก้ไข อาจจะประกอบด้วยการเยียวยาภาคส่วนต่างๆ การดูแลช่วยเหลือสถานการณ์โควิด-19 นอกจากนี้นายกฯ ยังได้ให้แนวทางให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการแจกจ่ายเวชภัณฑ์ไปแล้ว ในส่วนของการตั้งคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการบริหารจัดการพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) (ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 9/2563) เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพที่สุดขอให้เพิ่มผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข สิ่งที่สำคัญคือ ต้องดูแล ช่วยเหลือประชาชน โดยในสถานการณ์นี้อาจจะพิจารณาใช้มาตรการพิเศษ แนวทาง ความช่วยเหลือที่ได้กำหนดแล้ว ให้นำไปใช้ให้ได้ผล ส่งความช่วยเหลือถึงประชาชนที่เดือดร้อน มอบหมายกระทรวงการคลังให้ดำเนินการ พัฒนาตามแนวทางที่กำหนด ชี้แจง ให้ประชาชนเข้าใจ นายกรัฐมนตรี ได้เล่าถึงการตรวจเยี่ยมการดำเนินการของภาครัฐ หน่วยงาน และประชาชนในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี ขอให้ทุกฝ่ายมีการประเมินภาพรวมร่วมกันในการทำงานที่ผ่านมาด้วย ว่า Best and worst case จะเป็นอย่างไร จะมีการผ่อนสั้นผ่อนยาว อนุโลม และเข้มงวดในเรื่องใดบ้าง เช่น กรณีช่างตัดผม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหาแนวทางร่วมกัน ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหลักในการประเมินมาตรการผ่อนคลาย และหากเกิดสถานการณ์เลวร้ายลง worst case จะทำอย่างไร ให้พิจารณาให้ครอบคลุม ทุกมิติ เชิงลึก เชิงกว้างและรอบคอบ เพื่อประชาชนเป็นที่ตั้ง หากมีปัญหาก็ต้องช่วยกันแก้ไข ทำงานในสถานการณ์ฉุกเฉินแบบนี้ต้องมีปัญหาแต่อย่าเกิดข้อขัดแย้งกันเอง ทุกฝ่าย ทุกคนเหนื่อย แต่ขอให้อดทนการดูแล ส่วนประเด็นการดูแลแรงงานนั้น นายกฯ สั่งให้สำนักงานประกันสังคมดูแลแรงงานที่ขึ้นทะเบียนให้ได้รับการช่วยเหลือ และให้พิจารณาผู้ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนแรงงานว่าจะสามารถหาช่องทาง แนวทาง วิธีการ ในการช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง เช่น ช่วยเหลือให้ลงทะเบียนให้ครบถ้วน ถูกต้อง การจัดสรรงบประมาณให้ถูกกลุ่ม ถูกความต้องการ ความจำเป็น ส่วนงบประมาณของแต่ละกระทรวงเพื่อนำมาช่วยผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ขอให้ร่วมกันพิจารณาด้วยความละเอียดถี่ถ้วน เพื่อช่วยเหลือเยียวยา รักษา ขอให้ทุกหน่วยงานร่วมคิดแบบมีวิสัยทัศน์ เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่นที่เป็นประโยชน์ พร้อมกับกำชับในที่ประชุม ศบค.ในประเด็นสำคัญที่ดังนี้ 1.ให้ทุกหน่วยงานการประเมินสถานการณ์ Best and Worst Case เพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงาน 2. บันทึกเหตุการณ์โควิด-19 ในหอจดหมายเหตุเพื่อเป็นประโยชน์ในการดำเนินงานในอนาคต 3.การบูรณาการข้อมูล ความคิดเห็นของประชาชน แม้ใน Social Media จะโต้แย้งกัน บางข้อคิดเห็นก็มีประโยชน์ / ให้พิจารณาอย่างละเอียดทั้งแผนด้านบุคคลากร แผนด้านการทำงาน เช่น การจัดเงินกู้ ก็ต้องมีคณะกรรมการคัดกรองอย่างละเอียดถี่ถ้วน 4. ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอาใจใส่ ตรวจตรา ประเมิน กำกับดูแลผู้ปฏิบัติงาน หากต้องการความช่วยเหลือ หรือเจ็บป่วย ด้านใด ต้องได้รับการดูแล ต้องช่วยเหลือ 5. ด้านการกระจาย แจกจ่าย เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ขณะนี้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ตอบสนอง รองรับความจำเป็นในการใช้งานได้ 6. การกำหนดราคาสินค้า สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูแลอย่างใกล้ชิด กระทรวงพาณิชย์จัดทีมสร้างแนวร่วม เช่น จิตอาสา เพื่อช่วยสอดส่องดูแลให้เรียบร้อย 7. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำสถิติ ตัวเลข เช่น การติดเชื้อ ที่มาของโรค 8. พิจารณาการใช้แอปพลิเคชั่นโดยเมื่อสำเร็จแล้ว ให้ช่วยชี้แจงให้ประชาชนผู้ใช้งานเข้าใจ ใช้งานได้จริง 9. ด้านโครงการวิจัยและพัฒนา ให้ศึกษาว่าขณะนี้ เวลานี้ เราทำอะไรได้บ้าง ทั้งในส่วนของการดำเนินโดยบุคลากร manmade และ การใช้เทคโนโลยี รวมถึงการให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยเหลือ 10. ขอบคุณเอกชนที่ร่วมมือ และให้เกียรติรัฐบาล รวมทั้ง ขอบคุณที่ร่วมมอบสิ่งของ เครื่องใช้รวมถึงร่วมวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหา นอกจากนี้นายกฯ ยังขอให้โฆษก ศบค. ย้ำขอบคุณประชาชน และผู้สนับสนุนภาคเอกชน ที่ร่วมกันช่วยรัฐบาล ทั้งในสิ่งที่ขาดเหลือ และช่วยส่งเสริมมาตรการที่รัฐบาลทำอยู่ อย่างไรก็ตามในที่ประชุมฯ หน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมงานรายผลการดำเนินงานในประเด็นสำคัญ ดังนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ จำนวนเตียง เวชภัณฑ์ ที่จะรองรับผู้ป่วย เครื่องช่วยหายใจที่กระจายไปตามต่างจังหวัด ขอให้มั่นใจว่าเพียงพอรองรับ กระทรวงกลาโหม ได้รายงานถึงรวมการตั้งจุดควบคุม เฝ้าระวังว่าได้ดำเนินการอย่างเข้มงวด กระทรวงมหาดไทย ได้รายงานการกระจายหน้ากากผ้าว่าครบตามจำนวน ได้แจกจ่ายครบ 50 ล้านชิ้นแล้ว ผ่านการดำเนินการตามแผนที่วางไว้ และการสร้างความเข้าใจกับประชาชน รวมทั้ง การทำ Local Quarantine (ที่กักกันของจังหวัก)ให้ได้ผลสำเร็จ การลงโทษผู้รวมตัวมั่วสุ่ม ผ่านการดำเนินการอย่างเข้มงวด ตลอดจนมีการค้นหาผู้ป่วยเพื่อดูแล ได้ดำเนินปิดด่านทางบก 50 แห่ง อนุญาตให้สินค้าผ่านได้ ยกเว้น ประชาชน การนำเข้ามาจะให้ทยอยการเข้าตามจำนวนที่กำหนดไว้ และต้องเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติในการเดินทาง กระทรวงการต่างประเทศ ได้รายงานความคืบหน้ามาตรการเดินทางเข้าออกประเทศ และการดูแลคนไทยในต่างประเทศ การทยอยนำคนไทยกลับประเทศ และการเข้ากระบวนการ State Quarantine (ที่กักกันของรัฐบาล)โดยไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย โดยในส่วนของการดำเนินงานด้านการข้ามแดนของแรงงานกระทรวงการต่างประเทศได้ประสานประเทศต้นทาง และประสานฝ่ายหน่วยงานด้านความมั่นคงในการแก้ไขปัญหาด้วยแล้ว กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้รายงานด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และสื่อสังคมออนไลน์ และได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น สำหรับผู้กักกันตัว App หมอชนะ ซึ่งเปิดให้คนทั่วไปดาวน์โหลด และได้นำมาใช้งานในหลายจังหวัดแล้ว กระทรวงพาณิชย์ ได้ชี้แจงเรื่องหน้ากากอนามัย ชุด PPE ที่มีฐานรับสินค้าจากต้นทางและกระจายโดยไปรษณีย์ไทยเป็นไปอย่างราบรื่น ด้านสินค้าอุปโภค บริโภค มีเพียงพอ ราคาเหมาะสม ประชาชนเข้าถึงสินค้าได้ ทั้งนี้ ขอให้มั่นใจว่ากระทรวงพาณิชย์มีมาตรการดำเนินการในกรณีที่จำเป็น และได้จัดทำเจลล้างมือธงฟ้า ราคา 39 บาท กำลังกระจายไปทั่วทุกจังหวัด กระทรวงคมนาคม ได้รายงานการดูแลระบบขนส่งสาธารณะ การทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรค การขนส่งทางอากาศ ซึ่งได้ปิดท่าอากาศยานแล้ว 16 แห่ง และยังเปิดอยู่เปิด 12 แห่ง ในส่วนของระบบขนส่งมวลชน ได้พิจารณาเพิ่มรถ และเพิ่มความถี่เพื่อแก้ปัญหาความแออัด