ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น โดยเงินบาทได้รับอานิสงส์ในช่วงต้นสัปดาห์จากบรรยากาศของตลาดสินทรัพย์เสี่ยงฝั่งเอเชียที่มีแรงหนุนจากความหวังว่าการระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศอาจเริ่มมีสัญญาณนิ่งมากขึ้น ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ กลับมาเผชิญแรงขายในช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากที่เฟดประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการเงินหลายมาตรการวงเงินรวม 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งจะอัดฉีดเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี สถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติในระหว่างสัปดาห์ มีส่วนชะลอทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทไว้บางส่วน ในวันศุกร์ (10 เม.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.67 เทียบกับระดับ 32.98 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (3 เม.ย.) สำหรับสัปดาห์ถัดไป (13-17 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.50-32.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามได้แก่ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ และตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจโลกชุดใหม่ของ IMF ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านเดือนมี.ค. ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ผลสำรวจภาคการผลิตและแนวโน้มธุรกิจจากเฟดนิวยอร์กและเฟดฟิลาเดลเฟียเดือนเม.ย. และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) ของเฟด นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/63 และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนมี.ค. ของจีน รวมถึงผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอินโดนีเซียด้วยเช่นกัน ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,228.03 จุด เพิ่มขึ้น 7.83% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 82,307.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.85% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 7.37% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 236.46 จุด โดยตลาดหุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงต้นสัปดาห์ ท่ามกลางความคาดหวังว่าสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศอาจเข้าใกล้จุดสูงสุด ประกอบกับมีแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศชุดที่ 3 มูลค่ากว่า 1.9 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ดีดัชนีฯย่อตัวลงเล็กน้อยในเวลาต่อมา เนื่องจากยังคงมีความกังวลต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจจากไวรัสโควิด-19 ก่อนจะปรับตัวขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ ขานรับมาตรการผ่อนคลายทางการเงินครั้งใหญ่ของเฟด วงเงินรวม 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ฯ สำหรับสัปดาห์ถัดไป (13-17 เม.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,200 และ 1,185 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,240 และ 1,250 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามได้แก่ สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ของประเทศต่างๆ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญได้แก่ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนมี.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/63 และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนมี.ค.ของจีน รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมี.ค.ของยูโรโซน