เมื่อวันที่ 11 เม.ย. นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ด้วยกรมส่งเสริมการเกษตรมีภารกิจในการถ่ายทอดความรู้ และเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่เหมาะสมกับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ของเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรในทุกพื้นที่สามารถนำความรู้ไปปรับใช้กับการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรของตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยในส่วนของการพัฒนาด้านการเกษตรในพื้นที่ที่มีเงื่อนไขพิเศษ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการส่งเสริมความรู้ให้แก่เกษตรกรซึ่งได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินจากภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีแปลงเรียนรู้และเกษตรกรต้นแบบเกิดขึ้นทุกภูมิภาค ซึ่งเกษตรกรต้นแบบสามารถทำการเกษตรบนที่ดินทำกินที่ได้รับการจัดสรรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการส่งเสริมให้เพาะปลูกพืชแบบผสมผสาน เช่นพืชผักสวนครัว ตลอดจนไม้ยืนต้น สามารถดำรงชีพด้วยผลผลิตของตนเอง ช่วยลดรายจ่ายที่จะต้องซื้อหาอาหารเพื่อมาบริโภค ซึ่งส่วนที่เหลือยังสามารถนำไปจำหน่ายสร้างรายได้เพิ่มเติมตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ว่าเหลือรับประทานก็นำไปจำหน่าย ทั้งนี้ เกษตรกรต้นแบบที่มีอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยเหล่านี้สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินรุ่นต่อๆ ไป ในส่วนของภาคตะวันออก นางประภาภรณ์ พื้นผา เกษตรกร ต.นาจำปา อ.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์ ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งก่อนเข้าร่วมโครงการประกอบอาชีพรับจ้าง รายได้ไม่เพียงพอในการดำรงชีพ เมื่อได้เข้าร่วมโครงการจึงมีความตั้งใจที่จะทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงครอบครัว แม้มีปัญหาอุปสรรคเรื่องดินแข็ง และขาดน้ำในช่วงแรกก็ไม่เคยย่อท้อ เพราะมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเข้าไปให้คำแนะนำในการเพาะปลูกและวิธีกำจัดศัตรูพืชอย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันเกษตรกรมีรายได้ใช้จ่ายเพียงพอในการดำรงชีวิต มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ลดค่าใช้จ่ายในเรื่องอาหารเนื่องจากปลูกผักและเลี้ยงปลาไว้รับประทานในครอบครัว และยังมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้มีความรู้ในการปลูกผักหวานป่า และทำเกษตรผสมผสานเป็นอย่างดี จนได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตรให้เป็นต้นแบบในการศึกษาดูงานแก่เกษตรกรรุ่นต่อมา สำหรับภาคกลาง นายสุ่ม คุณทวงศ์ เกษตรกรผู้ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกิน ต.ระกำ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ก่อนเข้าร่วมโครงการประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป หากวันใดไม่มีงานก็ขาดรายได้ ประกอบกับอายุที่มากขึ้นทำให้ทำงานรับจ้างได้ไม่เต็มที่ เมื่อได้เข้าร่วมโครงการจึงเริ่มหันมาทำการเกษตรแบบจริงจัง โดยเน้นปลูกพืชผสมผสานและพืชผักสวนครัว โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่เข้าไปให้คำแนะนำในการทำเกษตรอย่างสม่ำเสมอ ด้วยความขยัน มุมานะในการทำการเกษตรแม้แต่ในพื้นที่ที่ขาดความอุดมสมบูรณ์หรือศักยภาพต่ำ ปัจจุบันเกษตรกรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีรายได้เพียงพอในการดำรงชีวิต เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายในเรื่องอาหาร สามารถผลิตผลผลิตทางการเกษตรไว้รับประทานเอง และจำหน่ายแจกจ่ายแก่เพื่อนบ้านใกล้เคียง รวมทั้งมีความรู้ในการทำเกษตรผสมผสาน และสามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงเป็นอย่างดี จนได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตรให้เป็นต้นแบบในการศึกษาดูงานแก่เกษตรกรรายอื่นอย่างต่อเนื่อง "ปี 2563 กรมส่งเสริมการเกษตร สร้างเกษตรกรต้นแบบรวม 30 ราย โดยมีแปลงที่ดินทำกินต้นแบบแล้วใน 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี อุทัยธานี สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ และพัทลุง ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรวางแผนพัฒนาการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้เกษตรกรที่ได้รับจัดสรรที่ดินทำกิน ตอบสนองนโยบายของรัฐในการสร้างความมั่นคงและลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคม สามารถบริหารจัดการที่ดิน และทรัพยากรดินของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ"รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว