โรคระบาดโควิดที่ก่อให้เกิดผลกระทบกันถ้วนหน้า ทั้งที่ป่วยและไม่ป่วย และขณะเดียวกันยังทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในอีกหลายๆ ด้าน GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) โพสต์เฟซบุ๊กระบุ โควิด-19 ที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในยามค่ำคืน ภาพถ่ายจากดาวเทียม Suomi Npp ระบบเวียร์ (VIIRS) ซึ่งนอกจากจะอ่านค่าจุดความร้อน hotspot ในช่วงกลางวันแล้ว ยังเป็นระบบดาวเทียมที่สามารถบันทึกภาพเพื่อดูแสงสว่างในช่วงเวลาค่ำคืนได้อีกด้วย พบว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ในไทย ประกอบกับช่วงเวลาประกาศใช้ "พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน" มาเป็นระยะ เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ 26 มี.ค.63 เป็นต้นมา รวมทั้งขอความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ เอกชน ตลอดจนประชาชน งดออกจากเคหะสถานและจัดกิจกรรมงานรื่นเริงต่างๆ รวมถึงสถานบันเทิง ในช่วงเวลา 22.00 - 04.00 น. จิสด้า หรือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. ได้ติดตามสถานการณ์หลังจากมี พ.ร.ก.ดังกล่าว โดยใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียม Suomi Npp ระบบเวียร์ (VIIRS) บันทึกภาพทุกค่ำคืนในช่วง 01.00 - 02.00 น. เพื่อดูอัตราการใช้ไฟฟ้าในภาพรวมทั้งประเทศ เปรียบเทียบใน 3 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 โดยบันทึกภาพวันที่ 2 ธ.ค.62, ช่วงสถานการณ์ที่กำลังแพร่ระบาดก่อนประกาศ พ.ร.ก. โดยบันทึกภาพวันที่ 14 ก.พ. และช่วงสุดท้าย หลังประกาศ พ.ร.ก.ดังกล่าว โดยบันทึกภาพวันที่ 9 เม.ย.63 สิ่งที่เกิดขึ้นหลังประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน หน่วยงานต่างๆและประชาชนได้ให้ความร่วมมือ สังเกตได้จากภาพวันที่ 9 เม.ย.63 ที่มีจำนวนใช้ไฟฟ้าลดลง ทำให้ พ.ร.ก.นอกจากจะใช้ควบคุมการแพร่ระบาดฯแล้ว ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการใช้พลังงานไฟฟ้าในยามค่ำคืนอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการปิดแหล่งท่องเที่ยว และสถานบันเทิงต่างๆ รวมไปถึงการเดินทางในช่วงดังกล่าว หมายเหตุ ด้านขวาของภาพวันที่ 9 เม.ย.63 บริเวณพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน ที่เห็นเป็นกลุ่มก้อนหนาๆ เป็นบริเวณกว้างไม่ใช่แสงไฟ แต่เป็นภาพที่ถ่ายแล้วติดกลุ่มเมฆที่ค่อนข้างหนา และอาจมีฝนตกร่วมด้วยในบริเวณนั้น