ออกมายอมรับอย่างสิ้นสภาพจากปากของคนระดับ “ผอ.องค์การอนามัยโลก” หรือ “ดับเบิลยูเอชโอ (ฮู)” นั่นคือ “ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส” กันแล้วว่า การแพร่ระบาดของเชื้อ “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019” หรือ “โควิด – 19” ได้ส่งผลกระทบ สร้างความเดือดร้อนต่อประชาคมชาวโลกไปถ้วนทั่วทุกมิติ คือ ทุกภาคส่วน แล้ว ภายหลังจากเกิดการแพร่ระบาดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ถึง ณ ปัจจุบัน ได้สร้างความเดือดร้อน ส่งผลกระทบเป็นประการต่างๆ ต่อโลกของเรา ผลกระทบอันดับแรกที่พิษโควิดฯ พ่นใส่ ก็คือ “ด้านสาธารณสุข” ที่ปรากฏว่า ทำให้ผู้คน ที่นับถึงชั่วโมงนี้ ก็ครอบคลุมพื้นที่ 208 ประเทศทั่วโลก เจ็บป่วยล้มตาย ซึ่งตามสถานการณ์ก็ต้องบอกว่า ผู้ป่วยทิ้งร่างล้มตายกันราวกับใบไม้ร่วงเลยทีเดียว โดยตามการรายงานของสำนักต่างที่เฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก อย่างมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮ็อปกินส์ เมืองบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ ประเทศสหรัฐฯ เป็นต้น ระบุว่า ผู้ป่วยติดเชื้อสะสมทั่วโลกมีจำนวนมากกว่า 1.28 ล้านคน ขณะที่ ผู้ป่วยที่เสียชีวิตทั่วโลกก็มีจำนวนมากกว่า 7 หมื่นคน อย่างไรก็ตาม บรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านสาธารณสุขจำนวนหนึ่ง แสดงทรรศนะว่า จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อ และผู้ป่วยที่เสียชีวิต อาจจะมีจำนวนมากกว่าที่รายงานกันไปข้างต้น เนื่องจากยังมีอีกหลายประเทศ ขาดแคลนอุปกรณ์ตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด – 19 อย่างทางการสาธารณสุขของออสเตรเลีย ระบุว่า ตัวเลขของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ และผู้ป่วยที่เสียชีวิต อาจจะมีจำนวนมากกว่าที่รายงานกัน 5 – 10 เท่า ก็เป็นได้ ทั้งนี้ การเจ็บป่วยล้มตายด้วยจำนวนเหยื่อติดเชื้อไวรัสในปริมาณมหาศาลเช่นนี้ ก็มีขึ้นท่ามกลางความขาดแคลน คือ ไม่เพียงพอต่อการใช้งานของอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่ใช้สำหรับการรักษาพยาบาล เช่น อุปกรณ์เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากสำหรับการยื้อยุดฉุดชีวิตของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของพญามัจจุราช คือ ความตาย ที่กำลังรออยู่เบื้องหน้า เป็นต้น หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์สำหรับป้องกันเชื้อโรค ที่แต่ไหนแต่ไรมา ก็ถือเป็นเรื่องสามัญปกติธรรมดามากๆ อย่าง หน้ากากอนามัย หรือแอลกอฮอล์สำหรับฆ่าเชื้อโรค เป็นอาทิ ไม่เว้นประเทศที่ได้ชื่อว่า พัฒนาแล้วอย่างกลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรปตะวันตก เช่น อิตาลี เยอรมนี ฝรั่งเศส สเปน หรือแม้กระทั้งสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจพี่เบิ้มใหญ่ของกลุ่มดังกล่าว ก็ยังเผชิญหน้ากับปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์ เวชภัณฑ์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งหน้ากากอนามัย นั้นด้วย ถึงขนาดลามเลยไปกระทบกระทั่งเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ เช่น กรณีของสหรัฐฯ กับเยอรมนี ในเรื่องที่ทางการสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีคำสั่งอายัดหน้ากากอนามัยที่ผลิตโดย “3 เอ็ม” บริษัทชื่อดังสัญชาติสหรัฐฯ แต่ไปตั้งฐานการผลิตในจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่ให้ส่งออกมาจำหน่ายในภูมิภาคยุโรป รวมถึงเยอรมนี เป็นต้น ขณะที่ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ทาง “กองทุนการเงินระหว่างประเทศ” หรือ “ไอเอ็มเอฟ” ภายใต้การนำของ “นางคริสตาลินา จอร์จิเอวา” ออกมาระบุว่า ความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจที่โลกได้รับในครั้งนี้ เลวร้ายยิ่งกว่าเมื่อครั้ง “วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์” ที่ส่งผลกระทบต่อระบบการเงินทั่วโลก ในช่วงกว่า 10 ปีที่แล้ว คือ ปี 2551 เสียอีก แต่ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายเป็นตัวเลขได้อย่างแน่ชัด เนื่องจากเชื้อโรค ยังคงระบาดไปอย่างต่อเนื่อง ไม่มีทีท่าว่าจะไวรัสโควิด – 19 จะไปยุติการแพร่ระบาดกันเมื่อใด โดยความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจที่ได้รับจากโควิดฯ ก็มีทั้งความสูญเสียงบประมาณภาครัฐจำนวนมหาศาล การขาดรายได้ของภาคเอกชน ที่ได้รับผลกระทบจากภาคการผลิต ภาคบริการ ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามปกติ ลากเลยไปถึงการปิดกิจการ ยุติการจ้างงานทั้งในแบบชั่วคราว และในแบบถาวรเลยก็มี ทางด้านผลกระทบจากโควิดฯ ที่มีต่อสังคมและการศึกษา ก็มีรายงานจากทาง “องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ “ยูเนสโก” ระบุว่า เด็กนักเรียนจำนวนมากกว่า 1.5 พันล้านคนทั่วโลก ได้รับความเดือดร้อนเรื่องการเรียน การสอน โดยต้องหยุดเรียนกันไปถ้วนหน้า และนับจากนี้ต่อไประบบการเรียน การสอน ก็จำต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบกันใหม่แทบจะพลิกโฉมกันไปเลย เช่น การเรียน การสอน ที่อาจจะเข้าสู่แพลตฟอร์มของออนไลน์ หรือระบบการศึกษาทางไกลกันมากขึ้น ขณะที่ ผลกระทบทางสังคม สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนก็ต้องกระเทือนกันไปทั่ว ทั้งในด้านพบปะกันระหว่างผู้คนในสังคม และครอบครัวที่ล้มป่วย ตลอดจนผู้สูญเสียสมาชิกในครอบครัวจากไวรัสร้าย ก็จะทำให้สภาพสังคมที่จะดำเนินไปไม่เหมือนเก่านับจากนี้เป็นต้นไป กว่าสภาพเดิมปกติจะกลับคืน คงต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร