เมื่อโควิด-19 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางไปมาข้ามภูมิภาคได้ จึงทำให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้เปิดช่องทางจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ ด้วยการเว็บไซต์ และ เฟซบุ๊ค ช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยวท้องถิ่น ใช้เป็นสื่อกลางนำเสนอสินค้าถิ่นและระบายของสด โดยนำร่องใน 2 พื้นที่พิเศษ คือ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และสุโขทัย ทั้งนี้ นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวท้องถิ่นอย่างเร่งด่วน ในช่วงที่ยังไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทาง ทางอพท. ในส่วนของสำนักงานพื้นที่พิเศษ จึงได้เป็นสื่อกลางช่วยผู้ประกอบการร้านค้าและชุมชน นำสินค้าและบริการมาโพสต์จำหน่ายในเพจและเว็บไซต์ของสำนักงานพื้นที่พิเศษ โดยในเบื้องต้นนำร่องอยู่ 2 แห่ง สำหรับ สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง ได้พัฒนา Platform การจำหน่ายสินค้าแบบชั่วคราว บนเว็บไซต์ www.smartactivebeach.dasta.or.th ให้แก่ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออก ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ได้มาลงทะเบียนและนำเสนอสินค้า เป็นการช่วยเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ในสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ซึ่งจะนำไปสู่การค้าขายแบบออนไลน์ต่อไป ขณะที่ สำนักงานพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร หรือ อพท.4 ได้เปิดให้ผู้ประกอบการร้านค้าชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่หดตัวเพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงนี้ ได้นำสินค้าและบริการต่างๆ เช่น อาหารปรุงสำเร็จ ข้าวสารอาหารแห้ง ผักสด งานหัตถกรรมต่างๆ หน้ากากผ้า เป็นต้น โดยสามารถนำข้อมูลพร้อมภาพสินค้าใส่เข้ามาในกล่องข้อความเฟซบุ๊ค ชื่อว่า อพท.4 เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางหน้าร้านและเป็นสื่อกลางในการขายสินค้า กรณีมีผู้สนใจให้ผู้ขายนำส่งสินค้าในรูปแบบเดลิเวอรี่ หรือจัดส่งทางไปรษณีหรือระบบขนส่งตามความเหมาะสม ซึ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ ทางอพท. จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่เข้าไปช่วยชุมชนและช่วยผู้ประกอบการได้มีช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าและบริการของท้องถิ่นทั้งประเภทสินค้าบริโภคและอุปโภค มานำเสนอขาย เพื่อให้เกิดรายได้หมุนเวียน พืชผักและของสดจะได้ไม่เน่าเสียหาย โดยกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว จะมีทั้งประชาชนในพื้นที่ ประชาชนนอกพื้นที่ หรือผู้ประกอบการที่ต้องการรับไปจำหน่ายต่อ และได้เกิดการรับรู้ของดีของเด่นในพื้นที่พิเศษ และนำมาซึ่งการตัดสินใจซื้อ อีกทั้งถ้าหากได้ผลตอบรับดีก็จะมีนโยบายให้พื้นที่พิเศษอื่นๆ ศึกษาและนำไปดำเนินการเช่นกันแต่ทั้งนี้เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายและกลับสู่ภาวะปกติ ทางอพท. ก็หวังที่จะให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางมาสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยว เลือกซื้อเลือกชิมอาหารถิ่น ได้สัมผัสวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี ที่มีอัตลักษณ์ต่อไป