การยางแห่งประเทศไทย จัดเวทีสัมมนาเครือข่ายผู้ผลิตน้ำยางสดและพนักงานผู้รับผิดชอบในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้ หวังพัฒนาตลาดน้ำยางสดทั้งระบบ สู่เมืองต้นแบบสามเหลี่ยมแห่งความมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน วันนี้ (2 พ.ค.60) นายธีรวัฒน์ เดชทองคำ รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาเครือข่ายผู้ผลิตน้ำยางสด และพนักงานผู้รับผิดชอบในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เพื่อพัฒนาตลาดน้ำยางสดให้มีการพัฒนาทั้งระบบ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมแห่งความมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของชาติ ภายใต้หลักการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ที่เกิดจากความมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยมีเกษตรกรชาวสวนยาง ตัวแทนกลุ่มสถาบันเกษตรกร และพนักงาน กยท. ที่เกี่ยวข้อง รวมสัมมนา ณ โรงแรม ลี การ์เด้นส์ พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายธีรวัฒน์ เดชทองคำ รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย นายธีรวัฒน์ เดชทองคำ รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประชุมสัมมนาเครือข่ายผู้ผลิตน้ำยางสดและพนักงานผู้รับผิดชอบในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และเป็นไปตามแผนวิสาหกิจของการยางแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2560-2564) สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนายางพาราตลอดห่วงโซ่อุปทาน และห่วงโซ่คุณค่า เพื่อเป็นการปรับปรุงการผลิตยางพารา สนับสนุนการผลิตวัตถุดิบที่มีคุณภาพ และพัฒนาระบบตลาดให้มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยในการขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาสถาบันเกษตรกรในการสร้างเครือข่ายผู้ผลิตน้ำยางสด รวมไปถึงบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนนโยบายรัฐในการพัฒนายางพาราของประเทศ ซึ่งจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาโดยการใช้หลักความเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาเกษตรกรชาวสวนยางให้มีประสิทธิภาพและสอดรับกับนโยบายรัฐบาล โดยมุ่งหวังให้กลุ่มสถาบันเกษตรกรให้ความร่วมมือกันเพื่อยกระดับการพัฒนาเครือข่ายน้ำยางสดให้มีความมั่นคง สามารถดำเนินงานด้านตลาดยางพาราทั้งระบบได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นกำลังหลักที่จะพัฒนาอาชีพการทำสวนยางให้มีความยั่งยืน จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจชาติ เพื่อรองรับและเชื่อมโยงการเติบโตของตลาดยางพาราโลกในอนาคต “ขอให้เกษตรกรชาวสวนยางทุกท่าน ไว้วางใจ กยท. แม้ว่าจะเป็นองค์กรใหม่ ที่เพิ่งหลอมรวมกัน แต่มีความพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง ล่าสุด ได้มีการผลักดันค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง พ.ศ.2560 ได้แก่ การให้กู้ยืมเงิน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับประกอบอาชีพการทำสวนยางทั้งเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยางในการแปรรูปพัฒนา รวบรวมผลผลิต การจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง ประสบภัย ธรรมชาติ และอื่นๆ การส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ในการรวมกลุ่ม และประกอบกิจกรรมต่างๆ นำไปสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา พร้อมมีผลบังคับใช้ทันที เกษตรกรชาวสวนยางสามารถยื่นคำขอได้แล้วทั่วประเทศ รวมถึงสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยางเช่นกัน” รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าว นายจำนัล เหมือนดำ เลขานุการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ด้าน นายจำนัล เหมือนดำ เลขานุการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล (ครม.ส่วนหน้า) กล่าวว่า ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 ก่อให้เกิดโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมแห่งความมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน ประกอบด้วย อำเภอเบตง อำเภอสุไหงโกลก อำเภอหนองจิก ซึ่งจะเชื่อมโยงภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และการพาณิชย์ เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยทั้งในเรื่อง การคมนาคม เศรษฐกิจ สังคม โดยมุ่งเน้นเข้าสู่การพัฒนายุคใหม่ ไทยแลนด์ 4.0 ภายในปี 2560-2562 โดยมีผู้แทนพิเศษของรัฐบาลจากหน่วยงานต่างๆ มาเป็นคณะกรรมการ 7 กลุ่มภารกิจงาน ประกอบด้วย 1.งานรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 2.งานอำนวยความยุติธรรมและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 3.งานสร้างความเข้าใจทั้งในและต่างประเทศ/เรื่องสิทธิมนุษยชน 4.งานการศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม 5.งานพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่และคุณภาพชีวิตประชาชน 6.งานเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐ และการขับเคลื่อนนโยบาย และ7.งานแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี เหล่านี้ล้วนมีผลต่อการอยู่ร่วมกัน เข้าใจกันและไม่แตกแยกกัน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชน จึงจะทำให้ความเป็นอยู่ของคนไทยทุกคนดีขึ้น นายจำนัล กล่าวอีกว่า ปัญหาที่สำคัญของภาคเกษตรกรไทย นับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อผลผลิตและราคาที่ตามมา และเป็นที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน นั่นคือ ค่านิยม ทัศนคติเดิมของเกษตรกร ประกอบกับระบบราชการไทยที่ค่อนข้างล้มเหลวในการส่งเสริมแบบให้ฟรี เน้นปริมาณแจกจ่ายให้เยอะแต่ไม่ให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพ ทำให้ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดอาจมีคุณภาพต่ำกว่าที่ควรจะเป็น หรือไม่สามารถผลิตผลผลิตออกมาให้เกิดประโยชน์ได้ เช่น การรับแจกเมล็ดพันธุ์ผัก พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ เป็นต้น ฉะนั้น เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานออกมาจำหน่ายสู่ท้องตลาด แนวทางการส่งเสริมให้ภาคเกษตรรวมกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาชีพการทำสวนยาง นอกจากจะได้แลกเปลี่ยนความรู้ และพัฒนาอาชีพแล้ว ยังสร้างความเข้มแข็งและเกิดอำนาจต่อรองจากผู้ซื้อได้ ภาครัฐจึงจำเป็นต้องผลักดันให้เกษตรกรรวมกลุ่มให้มาก