"ศบค."น้อมนำพระราชดำรัสไปปรับใช้แก้โควิด-19 เผย ขู่พวกแหกเคอร์ฟิว ถ้าตัวเลขฝ่าฝืนยังสูง จ่อยกระดับเข้ม หลังพบฝ่าฝืน1,217 ราย ดำเนินคดี 1,047 ราย "นายกฯ" ยกโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติเผย ครม.ผุดมาตรการสู้โควิด เทงบฯ 1.9 ล้านล. ไฟเขียวเลื่อนเปิดเทอมจาก16พ.ค.เป็น1ก.ค. "บิ๊กแดง" กำชับกำลังพลร่วมบูรณาการสนับสนุนสู้ไวรัส ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 7 เม.ย.63 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่าเมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระราชทานอุปกรณ์ทางการแพทย์ และพระราชทาน พระบรมราโชบายเพื่อเป็นแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ซึ่งเราจะทำหน้าที่ตามที่มีกระแสพระราชดำรัสมา เพื่อให้โรคที่เราเผชิญลดน้อยถอยลงไป นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตั้งแต่เวลา 22.00 น. ของวันที่ 6 เม.ย. ถึงเวลา 04.00 น.ของวันที่ 7 เม.ย. จำนวน 1,217 ราย หลังประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินและประกาศเคอร์ฟิว พบมีการรวมกลุ่ม หรือมั่วสุม 76 ราย ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตลอด ถือว่าประชาชนไม่ได้ให้ความร่วมมือมากเท่าไหร่ จึงต้องขอร้องพี่น้องประชาชนว่าเราจะมีมาตรการเข้มขึ้นเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับตัวเลขเหล่านี้และถ้าตัวเลขถูกรายงานขึ้นมา และเห็นความไม่เรียบร้อยอยู่ คงต้องมีมาตรการเพิ่มเติมขึ้นมา โดยขณะนี้ ได้ดำเนินคดี ไปทั้งหมด 1,047 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดูไม่ดีเลย ต่อมา เมื่อเวลา 14.05 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาการแก้ปัญหาโควิด-19 โดยตนในฐานะนายกฯได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานไปคิดมาตรการต่างๆ ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินจำนวนหนึ่ง โดยวันนี้มีการหารือในประเด็นการทำ พ.ร.บ.การโอนงบประมาณปี 63 เพื่อนำเงินส่วนหนึ่งกลับมาใช้ในระบบ โดยเติมที่งบกลางให้มากยิ่งขึ้น แต่งบประมาณปี 63 ได้ใช้จ่ายไปพลางก่อนมากพอสมควรแล้ว และยังเหลืออีกจำนวนหนึ่งประมาณ 8 หมื่น ถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นก้อนแรกที่จะมาเพิ่มเติมในงบกลางที่เหลืออยู่ปัจจุบันประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยในส่วนนี้ที่ใช้จ่ายไปแล้วคืองบกลางที่ตั้งไว้ในปี 63 ประมาณ 69,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ต้นเดือน มิ.ย. นายกฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาพ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)สามารถออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟท์โลน) และพ.ร.ก.ให้อำนาจธปท.สามารถเข้าไปซื้อตราสารหนี้เอกชนคุณภาพดีที่ครบกำหนดชำระโดยมีวงเงิน 9 แสนล้าน ขณะเดียวกันที่ประชุมได้พิจารณาพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อเยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งตั้งวงเงินไว้ที่ 1 ล้านล้านบาท โดยในระยะที่ 1 ประมาณ 6 แสนล้านบาท เป็นการเยียวยาในด้านสาธารณสุข ระยะที่ 2 จำนวน 4 แสนล้านบาท เป็นการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจที่ต้องดำเนินการคู่ขนานกันไป อย่างไรก็ตามต้องรอพ.ร.บ.งบประมาณมีผลบังคับใช้ต้นเดือนมิ.ย.นี้ โดนหลังจากนี้ต้องเร่งดำเนินการเรื่องพ.ร.ก.เงินกู้ให้เรียบร้อย ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีการพิจารณามาตรการต่างๆ ไว้แล้วว่าจะใช้เงินตรงไหนอย่างไรบ้าง แต่ก็สามารถปรับโอนกันได้ ซึ่งวันนี้หลายอย่างมีความจำเป็นอยู่ อีกทั้งวันนี้ที่ประ ชุม ครม.ได้ประกาศให้สถานการณ์โควิดเป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว ส่วนศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.มีมติรับทราบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ เสนอการปรับการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 63 โดยให้สถานศึกษา เลื่อนการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 63 จากวันที่ 16 พ.ค.เป็นวันที่ 1 ก.ค.63 ขณะที่ พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ได้ ประชุมผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเร้นซ์กับผู้บังคับหน่วยทั่วประเทศ โดยได้ให้ความสำคัญกับบทบาทหน้าที่ของกองทัพบก ที่จะต้องดำรงภารกิจในการป้องกันประเทศควบคู่ไปกับการต่อสู้กับภัยคุกคามที่เป็นโรคระบาดอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะการจัดกำลังปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในช่วงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อสนับสนุนรัฐบาลและศูนย์ปฏิบัติการ แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้านความมั่นคง ในทุกภารกิจ ซึ่งต้องดำเนินการอย่างเต็มที่ และย้ำให้กอง ทัพภาคบูรณาการกำลังพลจากทุกหน่วยทหารในพื้นที่ ทุกสายงาน ทุกระดับชั้นยศ และเพศ เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานในสถานการณ์ COVID-19 พร้อมเน้นย้ำอีกว่า เป็นโอกาสอันดีที่กำลังพลทุกคนจะได้เสียสละ ออกมามีส่วนร่วมในการดูแลช่วยเหลือประชาชน และขอให้กำลังพล รักษาวินัยอย่างเคร่งครัด และทุ่มเทปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้ประเทศพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้โดยเร็ว