นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการดูแลผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจจากไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 3 ซึ่งจะใช้เงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท ดำเนินการโดยออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับ คือ พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง 1 ล้านล้านบาท อีก 2 ฉบับเป็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)คือ พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท.ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาทและ พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน 4 แสนล้านบาท ส่วนจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เท่าใด กระทรวงการคลังจะไปดูตัวเลขอีกครั้ง สำหรับพ.ร.ก.กู้เงิน มีสาระสำคัญคือ ให้กระทรวงการคลังกู้เงินในกรอบวงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท หลักๆจะนำมาใช้ในการเยียวยา หรือให้เงินสนับสนุนประชาชนที่ลงทะเบียนรับเงิน 5,000 บาท เพิ่มขึ้นอีก 3 เดือนเป็น 6 เดือน หรือผู้ที่ลงทะเบียนรับสิทธิ์และผ่านเกณฑ์การตรวจสอบแล้ว จะได้รับเงิน 5,000 บาท ตลอด 6 เดือนรวม 3 หมื่นบาท อีกส่วนจะช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ โดยจากนี้จะมีการกำหนดแนวทางการดูแลออกมาอีกครั้งว่าจะครอบคลุมกลุ่มใดบ้าง อีกส่วนเป็นการดูแลทางด้านสาธารณสุข ซึ่งจะพิจารณาตามความเหมาะสม โดยในส่วนนี้จะใช้เงิน 6 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 4 แสนล้านบาท เป็นการดูแลเศรษฐกิจรวมถึงฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จะกู้เป็นสกุลเงินบาทเป็นหลัก แต่เปิดช่องเอาไว้เป้นสกุลต่างประเทศด้วยถ้าจำเป้น พร้อมกำหนดเวลาการกู้ต้องเสร็จสิ้นภายใน 30 ก.ย.64 หรือ 1 ปี 6 เดือน โดยที่คลังจะไม่กู้เงินทั้งหมดมากองไว้ 1 ล้านล้านบาท แต่จะเป็นการทยอยกู้ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งบประมาณ