"คำนูณ" เตือน รบ. ออกพรก.ชงแบงก์ชาติรับซื้อหุ้นกู้เสี่ยงคนทั้งชาติรับแทนกลุ่มทุนฝ่ายเดียว แนะธปท.เร่งแก้หนี้วิกฤตต้มยำกุ้ง40 หวั่นลุกลามวิกฤตตลาดทุน-สถาบันการเงิน เมื่อวันที่ 7 เม.ย. นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลจะออกพระราชกำหนดอนุญาตให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย รับซื้อหุ้นกู้เอกชน ว่า เป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะการออกหุ้นกู้ หรือตราสารหนี้ออกมาขายประชาชนในตลาดหลักทรัพย์เกิดขึ้นมากในหลายปีที่ผ่านมา นักลงทุนรายใหญ่รายย่อยอยากได้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าฝากธนาคาร และคิดว่าการซื้อหุ้นกู้จากบริษัทจดทะเบียนเป็นเรื่องเสี่ยงน้อย ทำให้หลายคนหลายบริษัทร่ำรวยทันที แต่บางคนบางบริษัทก็ไม่ได้ จึงเห็นว่าก่อนที่รัฐจะเข้าไปช่วย ต้องให้กลุ่มทุนที่ออกหุ้นกู้ช่วยตัวเองก่อน โดยร่วมแบกรับความเสี่ยงด้วย คือ ผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่ออกหุ้นกู้นั้นต้องเข้ามาซื้อก่อนตามจำนวนที่กำหนดไว้ โดยอาจจะกำหนดไว้ที่ร้อยละ 50 และควร ลดเพดานการจัดอันดับ เรตติ้ง ของบริษัทเพื่อให้กระจายไปยังกลุ่มทุนที่ไม่ใหญ่มากนัก และควรมี หลักเกณฑ์การเข้าไปซื้อหุ้นกู้ออกใหม่ในราคาที่เป็นธรรมมีฐานอ้างอิง สามารถตอบคำถามได้ การให้ธนาคารกลางลงมาใช้เงินเพื่อการแก้ปัญหาต้องคิดกันหลายชั้นและระมัดระวังให้ถึงที่สุด นายคำนูณ กล่าวว่า หากไม่แก้ปัญหานี้โดยด่วน อาจจะลามเป็นวิกฤตตลาดทุน วิกฤตสถาบันการเงิน แต่การให้แบงก์ชาติมารับภาระรับซื้อจะมีคำถามที่ต้องเตรียมคำตอบให้ดี คำถามพื้นฐานเลยคือนี่ใช่ภารกิจของแบงก์ชาติหรือไม่ การเอาเงินของคนทั้งชาติมาแก้ปัญหาวิกฤตหุ้นกู้นี้ เพื่อป้องวิกฤติลามเป็นวิกฤตตลาดทุนและวิกฤตสถาบันการเงินซึ่งสุดท้ายก็จะกระทบคนทั้งชาติอยู่ดี จึงไม่น่าจะเป็นการสมควรที่จะให้คนทั้งชาติต้องไปแบกรับความเสี่ยงฝ่ายเดียว “อย่าลืมว่าหนี้ที่แบงก์ชาติก่อไว้จากวิกฤตปี40 แล้วโอนมาเป็นหนี้ของชาติของแผ่นดินจำนวน 1.4 ล้านล้านบาทนั้น บัดนี้ก็ยังใช้ไม่หมด ยังเหลืออยู่อีกหลายแสนล้านบาท วิกฤต 2540 คือกลุ่มทุนกู้เงินตราต่างประเทศดอกเบี้ยถูกมาใช้ในประเทศที่ดอกเบี้ยแพงกว่ามาก อย่าให้วิกฤต 2563 เป็นเพราะกลุ่มทุนหวังใช้เงินจากหุ้นกู้ที่ได้ง่ายกว่าเงินกู้จากสถาบันการเงินและนักลงทุนในประเทศต้องการได้ดอกเบี้ยแพงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากเลยครับ" นายคำนูณ กล่าว ส่วนเรื่องการโอนงบประมาณส่วนที่เหลือของปีงบประมาณ 2563 จากกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ มาไว้ที่งบกลางนั้น ตนฟังดูแล้วยังไม่ลงตัว ทั้งตัวเลขที่จะตัดออกมาได้ และมุมมองทางกฎหมายที่ว่าจะต้องทำเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้นหรือไม่