จากรายงาน Asia Hotel Branded Residences Update 2020 พบว่า Hotel Residence ระดับการลงทุนในภูมิภาคเอเชียมีการพัฒนาที่แข็งแกร่งของ โดยภายในปี 2568 จะมีโครงการใหม่ถึง 79 โครงการ ประมาณ 16,130 ยูนิต ที่จะเข้ามาสู่ตลาด Hotel Residence เอเชีย โดยทำเลที่ให้บริการอสังหาริมทรัพย์พรีเมี่ยมภายใต้แบรนด์โรงแรมระดับลักซัวรี่ ตั้งอยู่ในประเทศไทยมากที่สุด คิดเป็น 29% ของอุปทาน โดยมี 30 โครงการ Hotel Residence ระดับลักซัวรี่ จำนวน 4,730 ยูนิต ที่กำลังพัฒนาในประเทศไทย ภายในปี 2563 – 2568 ตามด้วยประเทศฟิลิปปินส์และเวียดนาม นอกจากนั้น ในรายงานยังพบว่า ประเทศจีน มีความสำคัญต่อโครงการ Hotel Residence แบรนด์หรูตามเมืองชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย โดยสามารถกวาดยอดขายได้จากนักลงทุนจีนมากกว่า 57% ซึ่งเป็นผลมาจากนักพัฒนาชาวจีนรุ่นสอง ให้ความสนใจลงทุนนอกประเทศจีน ในขณะที่ยังคงลงทุนเฉพาะโครงการที่ได้รับผลตอบแทนสูงในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งนักลงทุนจีนเหล่านี้ได้รับแรงบันดาลใจจากความเชื่อมั่นเชิงลบตลาดในประเทศ และมองหาโอกาสที่มากขึ้นในต่างประเทศ ด้วยข้อเสนอการขายที่น่าดึงดูดของแบรนด์การบริการ ระดับนานาชาติ ทั้งนี้ บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในจีนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง ซึ่งกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องในระดับสากล ได้แก่ ว่านเคอ (Vanke) กรีนแลนด์ กรุ๊ป (Greenland Group) และ คันทรี การ์เด้น (Country Garden) สำหรับการเปลี่ยนแปลงในตลาดการลงทุนที่อยู่อาศัยอีกอย่างหนึ่งคือ กลุ่มบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียหลายแห่งกำลังพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยที่มุ่งเน้นการให้บริการ (Hotel Residence) ในต่างประเทศบนกลยุทธ์การลงทุนข้ามพรมแดน โดยใช้แบรนด์โรงแรมระดับโลกเข้ามาบริหารและเป็นจุดขาย อาทิ เบอร์จาย่า คอร์เปอร์เรชั่น (Berjaya Corporation) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับแนวหน้าจากประเทศมาเลเซีย ได้ใช้แบรนด์โฟร์ซีซั่นส์ (Four Seasons) มาเป็นตราสินค้าของโครงการในเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น โดยประสบความสำเร็จอย่างสูงในการขาย และได้รับการกล่าวขานว่า เป็นสินทรัพย์ที่มีราคาประเมินระดับพรีเมี่ยมมากที่สุดโครงการหนึ่งในญี่ปุ่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า Hotel Residence คือการเพิ่มมูลค่าให้กับอสังหาริมทรัพย์สามารถลดความเสี่ยงในการพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันยังเป็นทางออกของการลงทุนโรงแรมที่จากเดิมมุ่งเน้นเพียงผลตอบแทนในตลาดการบริการที่มีต้นทุนสูงและให้ผลตอบแทนต่ำอีกด้วย ขณะที่ทำเล Hotel Residence นั้นมีความสมดุลมากขึ้นระหว่าง รูปแบบรีสอร์ทหรือในแหล่งท่องเที่ยว และทำเลในเมือง โดย โครงการโฮเทลเรสซิเด้นซ์ในเมือง คิดเป็น 42% และกำลังเพิ่มขึ้นเมื่อมองดูตัวเลขเทรนด์เมือง และการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต จะเห็นว่า ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ร่ำรวยต่างย้ายถิ่นอาศัยจากแบบครอบครัวเดี่ยวดั้งเดิมมาเป็นคอนโดมิเนียมหรู ที่พร้อมด้วยการบริการแบบครบวงจรเทียบเท่าโรงแรมห้าดาวในย่านใจกลางธุรกิจ โดย 58% ของโครงการ Hotel Residence ที่กำลังพัฒนาทั้งหมดในเอเชียอยู่ในระดับไฮเอนด์ ซึ่งรายงานของ ซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส์ (C9 Hotelworks) ได้จัดอันดับของผู้ประกอบการ Hotel Residence Branded ระดับพรีเมี่ยม-ลักซัวรี่ ที่โดดเด่น ได้แก่ แมริออท ตามมาด้วยแบรนด์แอคคอร์ ดุสิต ไฮแอท แชงกรี-ลา อินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเทล กรุ๊ป และ วินแดม รวมถึงโครงการอื่น ๆ ในเครือ โรสวูด และ ไมเนอร์ บิล บาร์เน็ต ทั้งนี้ นายบิล บาร์เน็ต กรรมการผู้จัดการ ซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาด้านโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจการบริการในเอเชีย กล่าวถึงสถานการณ์การธุรกิจโรงแรม รวมถึง Hotel Residence ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ว่า ภาคธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ระดับการลงทุนได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ทั่วทั้งเอเชีย รวมถึงประเทศไทย ภูเก็ตและกรุงเทพฯ ที่เป็นศูนย์กลางการลงทุนสำหรับโฮเทลเรสซิเดนซ์ของภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตซึ่งกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากในขณะนี้ มีโครงการโรงแรมที่กำลังจะเปิดตัวในภูเก็ตปีนี้ เป็นโรงแรมที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดภูเก็ต ปี 2563 จำนวนทั้งสิ้น 5,009 ห้อง จาก 21 โครงการ อัตราส่วนการเพิ่มขึ้นคิดเป็น 6% ส่วนใหญ่จะหยุดชั่วคราว แต่โครงการระยะยาวอย่าง Hotel Residence ยังรุดหน้าดำเนินการต่อไป ซึ่งคาดว่า การลงทุนโรงแรมในภูเก็ตหลังจากผลพวงของโควิด-19 จะยังคงแข็งแกร่งเหมือนเดิม อย่างไรก็ตามตลาดสำคัญ 2 แห่งที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดภูเก็ตรวมกันเท่ากับ 40% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด คือ จีนและรัสเซีย โดยเวลานี้เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในประเทศจีนแล้ว ดังนั้นน่าจะเห็นกระแสการท่องเที่ยวของตลาดจีนเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ส่วนตลาดรัสเซีย นั้นเป็นตลาดสโนว์เบิร์ด (Snowbird) ที่มาในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ถึงเดือนเมษายน 2564