“กฟผ.”เตรียมนำเข้าแอลเอ็นจีลำที่ 2 ภายหลังทุกฝ่ายระบุการขนส่งไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 พร้อมเดินหน้าร่วมพิชิตไฟป่าภาคเหนือ ตั้งทีมเสือดำดับไฟป่า ปฏิบัติภารกิจ “ทน เสียว เสี่ยง”ในการดูแลผืนป่าร่วมกันภายใต้แผนงานดับไฟป่า สร้างแนวกันไฟ สร้างฝายชะลอน้ำ เผื่อรักษาผืนป่าให้กับชุมชน นายพัฒนา แสงศรีโรจนน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ และโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.เปิดเผยว่า การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ แอลเอ็นจี ลำที่ 2 โดย กฟผ.อีก 65,000 ตันจะเข้ามาในเดือนเม.ย.นี้ตามกำหนดการเดิม โดยได้หารือกับผู้จำหน่ายคือ บริษัท PETRONAS LNG และพีทีที แอลเอ็นจี ผู้ให้บริการคลังและท่าเรือแล้วว่า ถึงแม้ว่าในขณะนี้มีการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก แต่การขนส่งแอลเอ็นจีไม่ได้รับผลกระทบ แต่จะมีการเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยและการป้องกันโรคมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการนำเข้ารอบที่ 2 นี้จะไม่มีพิธีรับเรือเหมือนกันการนำเข้ารอบแรก เมื่อเดือนธ.ค.62 ที่นำเข้ามาแล้ว 65,000 ตัน ทั้งนี้ยอมรับว่า ผลกระทบจากโควิด-19 กระทบไปทั่วโลกและส่งผลต่อความต้องการใช้พลังงาน ดังนั้น กฟผ.จึงอยู่ระหว่างทบทวนการขอนำเข้าแอลเอ็นจีในรอบถัดไป โดยปริมาณนำเข้าจะลดลง จากเดิมที่คณะกรรมการ กฟผ.เมื่อวันที่ 24 ม.ค.63 ได้เห็นชอบแผนการจัดหา LNG แบบตลาดจร (Spot)เพิ่มเติม ซึ่งมีระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2563-2565 แบ่งเป็นปี 2563 ปริมาณไม่เกิน 0.6 ล้านตันต่อปี,ปี 2564 ปริมาณ 1.9 ล้านตันต่อปี และปี 2565 ปริมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี เพื่อให้ กฟผ.มีความยืดหยุ่นทั้งด้านความมั่นคงและต้นทุนเชื้อเพลิง สามารถบริหารจัดการก๊าชธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ล่าสุดที่ให้ทบทวนแผนการนำเข้าแอลเอ็นจีประเภทคลังลอยน้ำ (FSRU) 5 ล้านตัน/ปี ที่ในขณะนี้ กฟผ.อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น EHIA (กระบวนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ)นั้น มติดังกล่าวให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอความเห็นให้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) โดย กฟผ.ได้เสนอข้อมูลไปแล้ว แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด เบื้องต้นเห็นว่า ควรดำเนินการต่อ แม้จะมีคลังแบบ TERMINAL จะเกิดขึ้นถึง 3 แห่งคือ มาบตาพุด,หนองแฟบ และท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 โดยแต่ละโครงการต้องมีการดำเนินการที่เหมาะสม ซึ่งจะตอบสนองนโยบายของรัฐ ที่ให้เกิดการแข่งขันเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ไฟฟ้าตามโครงการ เปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีแอลเอ็นจีแก่บุคคลที่สามของรัฐบาล และส่งเสริมให้มี Shipper รายใหม่ในการดำเนินการจัดหา LNG สำหรับ ปัญหาไฟป่าทางภาคเหนือ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีๆละ 30-40 ครั้งทางเขื่อนภูมิพล โดยพนักงานจิตอาสาจัดตั้ง “ทีมเสือดำดับไฟป่า” ปฏิบัติภารกิจ“ทน เสียว เสี่ยง”ในการดูแลผืนป่าร่วมกันภายใต้แผนงานดับไฟป่า สร้างแนวกันไฟ สร้างฝายชะลอน้ำ เผื่อรักษาผืนป่าให้กับชุมชน โดยสามารถสร้างเส้นทางกันไฟป่าเส้นทางหลักรวมระยะทางทั้งสิ้น 35 กิโลเมตร รายล้อมบริเวณ 2 ฝั่งแม่น้ำปิง ครอบคลุมพื้นที่ป่าโดยรอบเขื่อนภูมิพลที่ กฟผ.ดูแลถึง 15,000 ไร่และยังสร้างแนวกันไฟป่าแบบแนวซอยเพื่อป้องกันการลุกลามของไฟป่าเป็นช่วงๆ อีกทั้งยังได้สร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ รวมจำนวน 21,000 ฝาย เพื่อให้ผืนดินมีความชุ่มชื้นและมีส่วนช่วยให้ไฟป่าไม่ลุกลาม