เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 6 เมษายน 2563 ที่หอประชุมวิธีสานหน้าศาลากลางจังหวัดยโสธร วันนี้ นายประเสริฐ ลือชาธนานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร นำส่วนราชการ ศาล อัยการ ทหาร ตำรวจ และประชาชนชาวจังหวัดยโสธรทุกหมู่เหล่า ร่วมประกอบพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลและวางพานพุ่มดอกไม้สด จุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย และกล่าวคำถวายราชสดุดีต่อหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ และพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ เนื่องในวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ หรือ "วันจักรี” โดยการจัดพิธีดังกล่าวมีการตรวจคัดกรองผู้มาร่วมพิธีและจัดตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้เพื่อป้องกันโรคไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด 19 วันจักรี ซึ่งถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของไทย โดยเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษก ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงสร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของไทย มาจนทุกวันนี้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ.2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูป พระเจ้าอยู่หัวทั้ง 4 พระองค์ ( ร.1 – 4 ) เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมา พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เป็นธรรมเนียมปีละครั้ง และโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และมีการย้ายที่หลายครั้ง เช่น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ปราสาท และพระที่นั่งศิวาลัยปราสาท เป็นต้น จากนั้น ในรัชกาลที่ 6 โปรดให้ย้ายพระบรมรูปทั้ง 4 มาไว้ ที่ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 พระชนกนาถ พระที่นั่งองค์นี้ รัชกาลที่ 6 โปรดให้ซ่อมจากพุทธปรางค์ปราสาทเพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะ และได้พระราชทานนามดังกล่าว การซ่อมแซมก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาล สำเร็จลุล่วงในเดือนเมษายน พ.ศ.2461 จึงได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายนปีนั้น และต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกวันที่ 6 เมษายนว่า "วันจักรี” เป็นวันที่ประชาชนทุกคนควรระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ของไทยทุกพระองค์