เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 6 เม.ย 2563 ที่หอประชุมอำเภอเมืองอ่างทอง นายเรวัต ประสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เป็นประธานในพิธีงานวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ มีข้าราชการทุกหมู่เหล่าเข้าร่วมพิธีถวายพานพุ่มดอกไม้ต่อหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ พร้อมกล่าวคำอาศรีวาทราชสดุดี เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันประสาทประสิทธิ์นานาประโยชน์เป็นอเนกอนันต์ต่อชาติบ้านเมือง กรุงรัตนโกสินทร์จึงได้จำเริญรุ่งเรืองสืบมาจนปัจจุบัน พร้อมด้วย นายพงษ์พันธ์ วิเชียรสมุทร นายวีระชัย นาคมาศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง หัวหน้าสำนักงานจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วมพิธี วันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวงของไทย ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ.2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 4 พระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมา พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนได้ถวายบังคม ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นธรรมเนียมปีละครั้ง และโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่มีการย้ายสถานที่ในการประดิษฐานหลายครั้ง เช่น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาท และพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท เป็นต้น ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดให้ย้ายพระบรมรูปมาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 พระบรมชนกนาถ จนกระทั่งเดือนเมษายน พ.ศ.2461 การซ่อมแซม ก่อสร้าง และประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาลจึงสำเร็จลุล่วง และได้มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป วันที่ 6 เมษายนปีนั้น ต่อมา โปรดเกล้าฯ ให้เรียกวันที่ 6 เมษายนว่า “วันจักรี”