ได้ไอเดียจากตปท. ยึดแนวคิด ผลิตได้เร็ว ง่าย ใช้วัสดุในประเทศ ออกแบบพัฒนา 2 แบบ ช่วยชีวิตผู้ป่วยอาการโคม่าให้รอดชีวิต รับมือหากเกิดกรณีคับขันระบาดหนักจนวิกฤติ ระบุหากพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ มีวัสดุอุปกรณ์เพียงพอ จะผลิตได้ 100 เครื่อง/สัปดาห์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ จากการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ COVID-19 พบผู้ป่วยรายแรกในไทย เมื่อวันที่ 12 ม.ค.63 และแพร่กระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยาต่าง ๆ ปัจจุบัน ในต่างประเทศพบผู้ติดเชื้อดังกล่าวมากสุดที่สหรัฐฯและเสียชีวิตมากที่สุดที่อิตาลี ซึ่งในอิตาลีมีเครื่องช่วยหายใจน้อยกว่าประเทศไทย ขณะที่ในไทย พบว่ายังมีไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึงเช่นกัน ส่วนมากอยู่ในโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ขณะนี้ หลายประเทศกำลังเร่งรณรงค์ให้ช่วยกันผลิตเครื่องช่วยหายใจเพื่อรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในอังกฤษ ต้องการ 30,000 เครื่อง ขณะที่อังกฤษมีเพียง 8,000 เครื่องเท่านั้น จึงมีการจัดทำคุณลักษณะและคุณสมบัติเครื่องช่วยหายใจฉุกเฉินขึ้นมา เพื่อส่งต่อไปยังภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ให้สามารถนำไปผลิตได้ หลายฝ่ายพยายามคิดค้นโดยมีเป้าหมาย “ต้องผลิตได้อย่างรวดเร็ว สร้างได้ง่าย และใช้วัสดุที่หาได้ในประเทศ” NARIT จึงนำแนวคิดดังกล่าวมาออกแบบและพัฒนาเครื่องช่วยหายใจ 2 แบบ แบบแรกใช้หลักการเดียวกับเครื่องช่วยหายใจแบบมือบีบ (Ambu Bag) ประกอบกับแนวคิดการออกแบบเครื่องช่วยหายใจของมหาวิทยาลัย MIT สหรัฐฯใช้ระบบบีบ Ambu Bag อัตโนมัติ แทนแรงบีบจากคน แบบที่สอง ใช้หลักการควบคุมการไหลของอากาศแรงดันสูงซึ่งใช้ในโรงพยาบาลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ได้คุณสมบัติของอากาศที่ไหลเข้าออกจากผู้ป่วยเป็นไปตามที่แพทย์กำหนด โดย เป็นแนวคิดที่ปรับปรุงมาจากแบบของมหาวิทยาลัยฟลอริดาซึ่งกำลังพัฒนาอยู่ และคล้ายคลึงกับที่หลายบริษัทในต่างประเทศกำลังพัฒนาอยู่เช่นกัน เครื่องช่วยหายใจทั้งสองแบบใช้อัลกอริทึมที่ควบคุมการทำงานให้ทำงานแบบอัตโนมัติได้ต่อเนื่องมากกว่า 1 เดือนโดยไม่เสียหาย สามารถควบคุมแรงดันอากาศเข้าไปในปอดของผู้ป่วยได้สม่ำเสมอ มีความปลอดภัยเพียงพอที่จะไม่ทำให้ปอดเกิดการฉีกขาด นอกจากนี้ ผู้ป่วยวิกฤตจากโรคโควิด ยังต้องใช้โหมดหายใจพิเศษ (PEEP) หรือ Positive End Expiratory Pressure ไม่สามารถปล่อยให้ความดันช่วงหายใจออก ต่ำกว่าระดับหนึ่งได้ เพราะจะทำให้ปอดยุบตัวจนไม่สามารถกลับมาใช้งานได้ เป็นโหมดที่ใช้กับอาการปอดบวม ซึ่งเป็นอาการที่เกิดกับผู้ป่วยจากโรค Covid-19 ทั้งนี้ NARIT ระบุไม่ได้คาดหวังที่จะผลิตขึ้นมาเพื่อแทนที่เครื่องช่วยหายใจที่มีอยู่ในโรงพยาบาล แต่ตามรายงานสาธารณสุขได้สำรวจว่าเครื่องช่วยหายใจในไทยทั้งหมดตอนนี้มีจำกัด และไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ หากเกิดกรณีคับขันมีผู้ป่วยวิกฤตพร้อมกันจำนวนมาก จึงมุ่งหวังให้เครื่องช่วยหายใจนี้จะมีส่วนช่วยผู้ป่วยโควิดที่มีอาการรุนแรงในขั้นวิกฤตให้รอดชีวิตได้ หากพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ และมีชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์เพียงพอ NARIT คาดจะสามารถผลิตเครื่องช่วยหายใจได้ ประมาณ 100 เครื่องต่อสัปดาห์ "กราบขอบพระคุณทีมแพทย์ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำหรับความร่วมมือร่วมใจในครั้งนี้ และแม้ว่าเราจะผลิตเครื่องช่วยหายใจออกมาใช้งานได้ เรายังหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะไม่เกิดวิกฤตการณ์รุนแรงจนต้องนำเครื่องช่วยหายใจนี้ออกมาใช้กับผู้ป่วย”