เมื่อวันที่ 3 เม.ย. นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะประธานศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้านการเกษตร ปี 2563 กรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า ในช่วงเดือนเมษายนซึ่งมีสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง ทำให้เหมาะสมต่อการระบาดของเพลี้ยไฟมังคุด จากการติดตามสถานการณ์การระบาดของเพลี้ยไฟมังคุดของกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่า มังคุดโดยเฉพาะในเขตจังหวัดจันทบุรี ระยอง ยะลา และระนอง อยู่ในระยะแตกใบอ่อน ออกดอก จนถึงระยะติดผลอ่อน มีการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟ ทำให้คุณภาพผลมังคุดลดลงไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค และผลผลิตบางส่วนเสียหาย เพลี้ยไฟมังคุดจะมีลักษณะลำตัวสีเหลืองหรือน้ำตาลอ่อน เคลื่อนไหวรวดเร็ว ระยะตัวอ่อน 6-7 วัน จากนั้นเป็นระยะก่อนเข้าดักแด้ 1-2 วัน และตัวเต็มวัยอยู่ประมาณ 22 วัน ตัวเมียแต่ละตัววางไข่เฉลี่ย 60 ฟอง ตัวเต็มวัยเพศเมียมีความยาว 1.05 มิลลิเมตร กว้าง 0.19 มิลลิเมตร หนวดยาว 0.23 มิลลิเมตร ปีกยาว 0.54 มิลลิเมตร บริเวณปลายของปล้องท้องมีอวัยวะวางไข่เห็นได้ชัดเจน ขนาดยาว 0.70 มิลลิเมตร กว้าง 0.04 มิลลิเมตร ลำตัวสีเหลือง ตาสีแดง มีตาเดียว ตัวเต็มวัยเพศผู้มีความยาว 0.71 มิลิเมตร กว้าง 0.14 มิลลิเมตร หนวดและปีกยาว 0.16 และ 0.38 มิลลิเมตร ตามลำดับ การเข้าทำลายมังคุดเพลี้ยไฟจะดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ดอกมีรอยแผลสีน้ำตาลกร้าน หากมีการระบาดรุนแรงขณะออกและติดผลอ่อนจะทำให้ดอกและผลอ่อนร่วง ส่วนผลที่ไม่ร่วงหากมีการทำลายที่ผลจะทำให้เปลือกมังคุดมีลักษณะขรุขระที่เรียกว่าผิวขี้กลากหรือผิวลาย คุณภาพต่ำไม่เป็นที่ต้องการของตลาดหรือจำหน่ายไม่ได้ราคา กรมส่งเสริมการเกษตรขอแนะนำให้เกษตรกรผู้ปลูกมังคุดปฏิบัติ ดังนี้ 1.ควรหมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ 2.ใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลืองขนาด 24 x 26 นิ้ว จำนวน 4 กับดักต่อต้น ติดตั้งในสวนมังคุดที่เริ่มแตกใบอ่อน 3.การใช้ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ เพลี้ยไฟตัวห้ำ และด้วงเต่าตัวห้ำ ช่วยป้องกันการระบาดได้ 4.หากจำเป็นต้องใช้สารเคมี แนะนำให้ใช้ ฟิโพรนิล อิมิดาโคลพริด และไซเพอร์เมทริน อัตราตามคำแนะนำในฉลากสารเคมี และมีการใช้สารเคมีสลับกลุ่มเพื่อป้องกันเพลี้ยไฟดื้อสารเคมี และ5.หากพบการระบาดที่ไม่รุนแรงให้พ่นด้วยน้ำเปล่าเพื่อให้เกิดความชื้น ทุก 2-3 วัน หากพบการระบาดรุนแรงควรพ่นด้วยสารเคมีกำจัดแมลงให้ทั่วถึงทั้งลำต้น มิฉะนั้นแมลงจะเคลื่อนย้ายหลบซ่อนไปยังบริเวณที่พ่นไม่ถึง นอกจากนี้ ต้องคำนึงถึงการปรับละอองฝอยหัวฉีด และระยะเวลาการพ่นด้วย หากมีข้อสงสัยให้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน