การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระดับโลก ที่ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ยกระดับให้เป็นการระบาดระดับโรค หรือ pandemic นำมาสู่การคร่าชีวิตผู้คนโดยไม่เลือกชนชั้น ไม่ว่าจะเป็นคนยากไร้จนถึงเชื้อพระวงศ์ที่สูงศักดิ์ ไม่เลือกขอบเขตขัณฑสีมาของประเทศ แต่แพร่กระจายไร้พรมแดนไปทั่วโลก ไม่เลือกเชื้อชาติศาสนา ครอบคลุมทุกผู้ตัวคน เป็นไวรัสที่ไม่เลือกปฎิบัติ เท่าเทียมทั่วถึง แม้จะมีความเอนเอียงอยู่นิดหนึ่งตรงที่ทำให้ผู้สูงอายุเสียชีวิตเป็นส่วนใหญ่ ในต่างประเทศอัตราป่วยตายในผู้สูงอายุจะมากกว่า 10% ส่วนคนอายุน้อยอัตราป่วยตายน้อยกว่า 1% และจนถึง ณ วันนี้ 28 มี.ค.63 พบว่ามีผู้เสียชีวิตทั่วโลกรวม 27,365 ราย ซึ่งสถิติผู้เสียชีวิตระดับนี้สามารถเรียกได้ว่ากำลังผจญกับสงครามครั้งใหญ่ หากนำตัวเลขผู้เสียชีวิตระดับนี้เปรียบเทียบกับสงครามที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก พบว่าผู้เสียชีวิตอันเนื่องมาจากไวรัสโควิด-19 มีความสูญเสียมากกว่าผู้คนที่ล้มตายในสงครามที่ประหัตประหารกันด้วยอาวุธร้ายแรงเสียอีก อาทิ -สงครามกลางเมืองซีเรียในปี 2018 มีผู้เสียชีวิต 23,000 ราย -สงครามกลางเมืองโซมาเลียในปี 2018-2019 มีผู้เสียชีวิต 6,268 ราย -สงครามกลางเมืองไนจีเรียมีผู้เสียชีวิต 17,156 ราย -สงครามกลางเมืองอิรัคในปี 2018-2019 มีผู้เสียชีวิต 6,159 ราย และอีกไม่กี่วันจำนวนผู้เสียชีวิตก็คงแซงสงครามกลางเมืองอัฟกานิสถานในปี 2019 ที่มีผู้เสียชีวิต 31,930 ราย หรือถ้าเปรียบเทียบกับความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของไทยที่ผ่านมาเกือบสองทศวรรษ ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 6,921 ราย จะเห็นได้ชัดเจนว่าความสูญเสียด้านชีวิตที่เกิดจากมหันตภัยไวรัสโควิด-19 นั้น ซึ่งเปรียบเสมือนอาวุธร้ายที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า กลับสร้างความเสียหายต่อผู้คนมากกว่าอาวุธยุทโธปกรณ์ใดๆ ที่กองทัพไทยมีครอบครองในปัจจุบันนี้เสียอีก ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันระดับประเทศอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในรุ่นเรา จึงจะสามารถเอาชนะศัตรูของชนชาติที่ร้ายกาจที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่านี้ได้ ด้วยยุทธศาสตร์การรบที่กลั่นกรองมาเป็นอย่างดีและกำลังทำอยู่นี้ ที่เรียกว่า “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนทำสำเร็จและมีชัยชนะเหนือมหันตภัยโลกาไวรัสโควิด-19 นี้อย่างแท้จริงครับ โดย: ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น เลขาธิการสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย และประธาน ทปสท.