สภาพอากาศช่วงเช้าเข้าเงื่อนไขทำฝน 5 หน่วยปฏิบัติการฯ วางแผนช่วยเหลือพื้นที่เกษตร-อ่างเก็บน้ำ-เพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่า เมื่อวันที่ 3 เม.ย. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ร่วมกับกองทัพบกและกองทัพอากาศ ในการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยคลี่คลายสถานการณ์ภัยแล้ง ไฟป่าหมอกควัน รวมถึงบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บจากพายุฤดูร้อน โดยมีการติดตามสภาพอากาศเป็นประจำทุกวันอย่างต่อเนื่องเพื่อวางแผนช่วยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ส่วนด้านการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่มีการแพร่ระบาดกระจายเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลก็ได้มีการประกาศมาตรการป้องกันข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพิ่มเติม และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จึงขอให้พี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการร่วมกันป้องกันและหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา “หยุดเชื้อเพื่อชาติ” สำหรับพี่น้องประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงนี้ ก็สามารถดำรงชีพด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้พี่น้องประชาชน และจะปฏิบัติหน้าที่ภารกิจการทำฝนให้ตกกระจายทั่วทุกภูมิภาค เพื่อให้น้องพี่น้องประชาชนมีน้ำสำหรับการดำรงชีพและทำการเกษตรอย่างเพียงพอ สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ (2 เม.ย.63) กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 9 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จังหวัดเพชรบูรณ์ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ยโสธร ร้อยเอ็ด นครราชสีมา สกลนคร เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ หนองบัวลำภู จันทบุรี สระแก้ว สงขลา สตูล พัทลุง ตรัง พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนจำนวน 4 แห่ง อ่างเก็บน้ำจำนวน 3 แห่ง เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ และบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บบางส่วนของจังหวัดมุกดาหารและยโสธร ด้านแผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 3 เมษายน 2563 ตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยออกประกาศเขตพื้นที่ภัยแล้ง มีจำนวน 23 จังหวัด 141 อำเภอ 728 ตำบล 3 เทศบาล 6,188 หมู่บ้าน/ชุมชน อยู่ในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ 6 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออก 7 จังหวัด ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำใช้การ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 22 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 183 แห่ง ซึ่งถือว่ามีปริมาณน้ำต้นทุนค่อนข้างน้อยมาก จึงขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนรณรงค์ใช้น้ำอย่างประหยัด เนื่องจากฤดูแล้งยังมีระยะเวลาอีก 2 เดือน อาจทำให้มีความเสี่ยงเรื่องปริมาณน้ำใช้การไม่เพียงพอ สำหรับพี่น้องประชาชนที่อยู่ในเขตพื้นที่ชลประทาน ให้ประสานงานกับกรมชลประทานในพื้นที่ เพื่อร่วมกันวางแผนการใช้น้ำไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตรและผลผลิต ขณะที่การแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง เนื่องจากได้รับอิทธิพลความกดอากาศสูงแผ่จากประเทศเวียดนามและลาวเข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับลมจากทางภาคใต้ จึงทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ส่วนพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง มีความเสี่ยงในระดับปานกลาง สำหรับจุดความร้อนหรือจุดที่มีการเผาไหม้ (Hotspot) จากดาวเทียมระบบ MODIS ในประเทศไทยพบว่ามีจำนวน 325 จุด กระจายอยู่บริเวณพื้นที่ภาคเหนือค่อนข้างมาก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงส่งผลให้ค่าคุณภาพอากาศบริเวณพื้นที่ภาคเหนือมีคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น บริเวณ จ.เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน และเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนบริเวณ จ.แพร่ ลำปาง สุโขทัย พื้นที่ภาคกลาง มีเกณฑ์คุณภาพอากาศปานกลางถึงดี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเกณฑ์คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงดี ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีเกณฑ์คุณภาพอากาศดีถึงดีมาก ด้านแผนที่ปริมาณน้ำฝนสะสม 1 สัปดาห์ (25 มี.ค.-2 เม.ย.63) พบว่า บริเวณพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้บางส่วน มีปริมาณน้ำฝนสะสมอยู่ในระดับ 10-25 มิลลิเมตร และมีการขอรับบริการฝนหลวงกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งกรมฝนหลวงฯ จะนำมาวางแผนเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ดังกล่าวต่อไป ส่วนการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในวันนี้ พบว่า ผลการตรวจอากาศจากสถานีเรดาร์ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง ในช่วงเช้านี้จึงมีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายโดยหน่วยปฏิบัติการฯ 5 หน่วย ได้แก่ -หน่วยปฏิบัติการฯ จ.ขอนแก่น ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ขอนแก่น ชัยภูมิ และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ -หน่วยปฏิบัติการฯ จ.บุรีรัมย์ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำ จ.บุรีรัมย์ -หน่วยปฏิบัติการฯ จ.นครราชสีมา ช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค จ.นครราชสีมา และชัยภูมิ -หน่วยปฏิบัติการฯ จ.จันทบุรี ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำ จ.ฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี ตราด และเพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่าไม้ พื้นที่โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ -หน่วยปฏิบัติการฯ จ.สุราษฎร์ธานี ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง พื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช พื้นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความเค็ม ทะเลสาบสงขลา จ.สงขลา และเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง จ.นครศรีธรรมราช "อย่างไรก็ตาม พื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง สภาพอากาศยังไม่เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง เนื่องจากค่าความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆค่อนข้างน้อย หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ดังกล่าว จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีการเปลี่ยนแปลงจากการได้รับพลังงานแสงอาทิตย์ และเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อไปทันที ทั้งนี้ เกษตรกร และพี่น้องประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ทางเพจ Facebook, Line, Instagram, Twitter และเว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร"อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าว